เอกณัฏฐ์ เธียรเศรษฐกุล ศิลปินไทยร่วมสมัย ได้รับเกียรติเป็นหนึ่งในศิลปินที่ได้รับคัดเลือกให้แสดงผลงานใน นิทรรศการจิตกรรมบัวหลวงฯ ครั้งที่ 45 นิทรรศการที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการศิลปะไทย
เป็นเวลากว่า 4 ทศวรรษแล้วที่มูลนิธิบัวหลวงได้จัดประกวด “จิตรกรรมบัวหลวง” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ด้วยเล็งเห็นคุณค่าและความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมไทย และมีเจตนารมณ์ในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยให้ยั่งยืนถาวร
ตลอดจนสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่จำนวนมากที่มีทักษะ แนวคิด และความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานด้าน จิตรกรรมเพื่อให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพและมีคุณค่า และมีโอกาสขึ้นเวทีแสดงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นับได้ว่า “จิตรกรรมบัวหลวง” เป็นสถาบันศิลป์ที่ได้รับการยอมรับจากวงการศิลปะว่าเป็นเวทีประกวดการวาดภาพที่ได้มาตรฐาน ศิลปินที่ได้รับรางวัลจากจิตรกรรมบัวหลวงหลายท่านมีฝีมือเป็นที่ประจักษ์และมีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพ บางท่านได้รับเกียรติสูงสุดในฐานะศิลปินแห่งชาติ ในขณะเดียวกันรางวัลจิตรกรรมบัวหลวงก็ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นรางวัลที่มีเกียรติและมีมาตรฐานสูง
สำหรับผลงานที่เอกณัฏฐ์ เธียรเศรษฐกุล นำเสนอในครั้งนี้มีชื่อว่า “ต่างกันแต่กลมกลืน” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผลงานที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ ด้วยการใช้เทคนิคที่หลากหลาย อันประกอบไปด้วยการแกะไม้ การกลิ้งหมึก และการระบายสีอะคริลิค ผลงานนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการประสานเทคนิคต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างลงตัว
“ต่างกันแต่กลมกลืน”
เป็นผลงานที่สะท้อนความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่ดูเหมือนจะต่างกัน แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนและลงตัว ซึ่งเป็นการสื่อสารถึงแนวคิดที่ลึกซึ้งและสร้างสรรค์ในแบบฉบับของศิลปิน
นิทรรศการจิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 45 ประจำปี 2567 ได้รวบรวมผลงาน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภทมาจัดแสดง ได้แก่ จิตรกรรมไทยแบบประเพณี จิตรกรรมไทยแนวประเพณี และจิตรกรรมร่วมสมัย ประกอบด้วยผลงานที่ชนะรางวัล 9 ชิ้น และผลงานที่ได้รับการคัดเลือกให้ร่วมแสดงอีก 72 ชิ้น รวม 81 ชิ้น
จัดแสดงระหว่างวันที่ 3 สิงหาคม – 29 กันยายน 2567 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถนนราชดำเนินกลาง เปิดให้เข้าชม ทุกวัน เวลา 10.00 – 19.00 น. (ปิดวันพุธ) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
การได้รับเลือกให้แสดงผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับเอกณัฏฐ์ และเป็นการยืนยันถึงความสำเร็จและการยอมรับในฝีมือของเขาในวงการศิลปะไทย