ปัญหาขยะในประเทศไทยนับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะปัญหาขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อม จากรายงานของกรมควบคุมมลพิษระบุว่าในปี 2563 มีขยะที่ไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องปริมาณ 7.88 ล้านตัน
หรือคิดเป็นร้อยละ 31 จากปริมาณที่เกิดขึ้นทั้งหมดในปีนั้น ขยะส่วนนี้ก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างมาก ทั้งเรื่องการเกิดแหล่งเชื้อโรคสะสม การรั่วไหลของขยะออกสู่ขยะกลายเป็นขยะทะเล หรือแม้กระทั่งการสะสมของไมโครพลาสติกในอาหารทะเลอีกด้วย (ข้อมูลจาก TIIS)
ปัญหาขยะไม่ได้เป็นเพียงปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวข้องกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสาธารณสุขในระยะยาวอีกด้วย จากสถิติโดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในปี 2564 ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยมากถึง 24.98 ล้านตัน หากเทียบกับจำนวนประชากรไทยทั้งสิ้น 69.8 ล้านคน นั่นเท่ากับว่า คนไทย 1 คนได้สร้างขยะ 360 กิโลกรัมต่อปี จำนวนปริมาณขยะที่มหาศาลนี้สะท้อนถึงแนวโน้มการอุปโภคที่สูงในทุกภาคส่วน และหากมีการจัดการขยะที่ไม่ดีพอ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้คนในสังคม นอกจากนี้ การจัดการขยะที่ไร้ประสิทธิภาพยังเป็นสาเหตุหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ข้อมูลจาก CCCL)
จากปัญหาดังกล่าวผู้เขียนได้ตระหนักถึงความรุนแรงปัญหาขยะที่เกิดขึ้นอย่างมาก จากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าประเทศจะปล่อยมลพิษมากน้อยต่างกัน แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอผลกระทบเหมือนๆ กัน ดังข้อมูลจาก UNHCR ที่พูดถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจนเกิดสภาวะคนพลัดถิ่นลี้ภัยจากสภาพอากาศ โดยระบุว่าในทุก 2 วินาที มี 1 คนต้องพลัดถิ่น หรือ ลี้ภัยจากภัยธรรมชาติ จะเป็นได้ว่าประเทศที่ต้องเผชิญปัญหาภัยธรรมชาติ กลับไม่ได้เป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซน์มากที่สุด แต่ปัญหาเหล่านี้กลับเกิดขึ้นแบบกระจายตัวไปทั่วโลก
ในฐานะผู้เขียนได้ทำงานเกี่ยวกับศิลปะ จึงมีความคิดที่สร้างงานที่ทำมาจากขยะที่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ในการทิ้งขยะเชิงพฤติกรรมที่เห็นเกิดขึ้นจนชาชิน ในจังหวัดที่ผู้เขียนอาศัยอยู่ พฤติกรรมเหล่านี้หลายคนอาจจะพบเจอในชีวิตประจำวันแต่หลายคนอาจมองข้ามไป พฤติกรรมนั้นก็คือ “การทิ้งขยะ” แบบขาดจิตสำนึก
ดังที่ผู้เขียนได้รวบรวมขยะในการสำรวจ 1 วัน ตระเวนหาขยะที่เกิดขึ้นในสถานที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญในจังหวัด เช่น วัด สถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยวเอกชน สวนสาธารณะ สถานีขนส่ง ฯลฯ จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการทิ้งขยะของคนที่มาเที่ยว มาใช้บริการ เกิดจากความมักง่ายเป็นส่วนใหญ่ เพราะสถานที่ต่างๆ มีการจัดการเรื่องการทำความสะอาดสถานที่เป็นอย่างดี มีพนักงานทำความสะอาด มีการจัดตั้งถังขยะอย่างพอเพียง แต่กลับมีคนที่ทิ้งขยะในที่ๆ ตนเองนั่งอยู่โดยไม่คิดที่จะนำขยะไปทิ้ง โดยที่ถึงขยะห่างไปไม่ถึง 1 เมตร หรือ บางครั้งผู้เขียนก็เจอขยะมีการพับ หรือ แขวนไว้ โดยดูจากเจตนายัดไว้ตามซอกหลืบเก้าอี้ โต๊ะ กิ่งไม้ หากจะมองว่าขี้เกียจนำไปทิ้งแต่กลับขยันซุกซ่อนขยะเป็นอย่างดี แต่ไม่ว่าอย่างไร พฤติกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิด “ขยะ” เกลื่อนกลาดไม่ถูกที่ถูกทาง
ผู้เขียนได้นำขยะเหล่านี้มาทำความสะอาด คัดแยกสี คัดแยกวัสดุ เพื่อมาทำงานศิลปะ โดยมีมุมมองว่าสิ่งเหล่านี้ที่เป็นพฤติกรรมการทิ้งขยะ เราต้องมองจากตนเอง ไม่ใช่มองคนอื่นว่าทำอย่างไร หากเริ่มจากที่เรา เราเป็นจุดเล็กที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ขยายไปสู่คนรอบข้าง ก็จะทำให้ปัญหาการทิ้งขยะไม่ถูกที่ได้แก้ไขจากเราเป็นจุดเริ่มต้น
ผลงาน “Garbage No.1” ผู้เขียนได้นำขยะมาทำเป็นงานศิลปะ ใช้เทคนิคงานคอลลาจ โดยตัดขยะเป็นขนาด 2 x 2 ซม. มาจัดเรียงเป็นหน้าตนเองแบบงานโมเสก ในงานขนาด 81 x 99 ซม. เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า “ไม่ว่าภายนอกจะเป็นอย่างไร เราอย่าได้ไปคาดหวังคนอื่นว่าจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ การจะเปลี่ยนอะไรให้ดีขึ้นต้องเริ่มด้วยตนเอง แล้วส่งต่อสิ่งเหล่านี้ไปสู่ผู้อื่น ” จนได้ออกมาเป็นงานศิลปะดังเช่นที่เห็นกันนี้