ในช่วงเวลา 1 ปีของการเรียนในหลักสูตร พุทธศิลปกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เอกณัฏฐ์ เธียรเศรษฐกุล ได้สร้างผลงานที่สะท้อนความเป็นตัวตนทั้งวิธีคิดและเทคนิคในมุมมองร่วมสมัย ผ่านกระบวนการเรียนรู้และการถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์
1 ปี ผ่านไปแล้วสำหรับการเรียนในหลักสูตรระยะสั้น พุทธศิลปกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง วันนี้เราจึงอยากจะรวบรวมผลงานของ เอกณัฏฐ์ เธียรเศรษฐกุล ที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นตลอดระยะหนึ่งปีที่ผ่านมา พร้อมกับชวนพูดคุยถึงประสบการณ์ที่ได้รับในหลักสูตรพุทธศิลป์นี้
อยากชวนพูดคุยถึงผลงานที่ทำในช่วงเรียนพุทธศิลป์ เกี่ยวกับประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนในครั้งนี้
“ก็ผ่านมาแล้วกับการเรียน 1 ปีเต็มในหลักสูตรนี้ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (เริ่มเรียนปี พ.ศ. 2566 และจบปี พ.ศ. 2567) “
การเรียนหลักสูตรนี้เปิดมุมมองใหม่ ๆ หรือทำให้ได้รับประสบการณ์อะไรที่แตกต่างจากเดิมบ้างไหม ?
“สิ่งที่ได้รับจากหลักสูตรพุทธศิลป์ มีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง หากจะสรุปขอแบ่งเป็น 3 ข้อหลัก ๆ
อย่างแรก ก็คือได้มีโอกาสไปเรียนกับอาจารย์แต่ละท่านที่มีมุมมองในการทำงานแตกต่างกัน ซึ่งจุดนี้คิดว่าสิ่งที่ได้ไม่ใช่ในเชิงของแนวความคิดในการทำงาน แต่มันเป็นในเชิงของวิธีการ เพราะอะไร ? แนวความคิด คืออาจารย์ให้อิสระเราอยู่แล้ว เพราะผู้เรียนแต่ละคนก็จะมีมุมมองในการที่ทำงานเกี่ยวกับความเชื่อ หรือว่าทางพุทธศิลป์ แตกต่างกันอยู่แล้วที่จะนำเสนอ ใครสนใจในด้านไหน ก็จะนำเสนอในด้านนั้นในสิ่งที่ตนสนใจ แต่ว่าอาจารย์เค้าจะมองในเรื่องของเทคนิคมากกว่า คือจะมองว่า เทคนิคไหนควรจะเพิ่มเข้าไป หรือว่าใครบางคน ถ้าพื้นฐานยังไม่แน่น อาจารย์ก็จะแนะนำเทคนิคเพิ่มเติมให้ หรือว่าใครที่พื้นฐานดีแล้ว หากว่างานน่าสนใจแล้ว ก็อาจจะมีคำแนะนำที่ว่าลองทดลองเติมนั้นหน่อย นี่หน่อยมั้ย อาจจะเวิร์ค หรือไม่เวิร์คก็ได้ แต่ว่าการที่มีอาจารย์ที่มีคุณวุฒิมาช่วยดูให้ มาช่วยแนะนำ ให้คำปรึกษาย่อมทำให้เราพัฒนางานได้ดียิ่งขึ้น
อย่างที่ 2 การได้แลกเปลี่ยนมุมมองที่หลากหลาย
ในคลาสเรียน ทุกคนอาจนับถือพุทธเหมือนกัน แต่ไม่ได้มองพุทธศาสนาเหมือนกันเลย แต่ละคนมีมุมมองที่แตกต่าง บางคนเชื่อในแบบที่เราอาจจะเห็นด้วย แต่บางคนก็มีมุมมองที่เราไม่เคยคิดถึง นี่คือจุดที่ทำให้ได้เรียนรู้ความหลากหลาย เพราะถ้าเรายึดแต่ตัวเองเป็นบรรทัดฐาน เราอาจมองเห็นเพียงมิติเดียว
อย่างที่ 3 เข้าถึงผู้คนที่ไม่ใช่สายศิลปะ
สิ่งที่เราถ่ายทอดผ่านงานศิลปะของเรา ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างสรรค์ผลงาน แต่ยังเกี่ยวข้องกับการสื่อสารความรู้สึกและมุมมองของเราให้ผู้ชมได้รับรู้ด้วย โดยเฉพาะในบริบทของ “พุทธศิลป์” ซึ่งหลายคนอาจตีความเพียงแค่การวาดภาพวัด พระพุทธรูป หรือพระพุทธเจ้าเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว พุทธศิลป์เป็นอะไรมากกว่านั้น มันคือการสะท้อนมุมมอง ความศรัทธา และแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาในรูปแบบที่ศิลปินแต่ละคนถ่ายทอดออกมาในแบบของตัวเอง
ถึงแม้ศิลปินที่สร้างผลงานเกี่ยวกับศาสนาจะมีมาอย่างยาวนาน แต่ยังคงมีคนทั่วไปจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้เรียนศิลปะ หรือไม่ได้อยู่ในแวดวงศิลปะ ซึ่งอาจไม่เข้าใจถึงความหมายที่ลึกซึ้งของพุทธศิลป์ และมักมองว่ามันจำกัดอยู่แค่เรื่องราวแบบดั้งเดิม
ข้อได้เปรียบของการเรียนในหลักสูตรพุทธศิลป์ คือ การเปิดโอกาสให้ผลงานถูกนำเสนอออกสู่สาธารณะได้มากขึ้น หลักสูตรนี้ไม่ได้เพียงให้ความรู้ทางด้านศิลปะ แต่ยังสนับสนุนการจัดแสดงผลงานตามแกลเลอรีหรือสถานที่ต่าง ๆ ที่เข้าถึงคนทั่วไป ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในมหาวิทยาลัย หรือกลุ่มคนที่อยู่ในแวดวงศิลปะ เช่น การจัดนิทรรศการที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่เคยเรียนศิลปะได้สัมผัสและเข้าใจงานศิลปะในแง่มุมที่กว้างขึ้น
พุทธศิลป์ไม่จำเป็นต้องถูกตีกรอบด้วยภาพวาดวัดหรือพระพุทธรูปเพียงอย่างเดียว แต่มันคือการนำเอาความเชื่อ ศรัทธา และมุมมองเกี่ยวกับพุทธศาสนามาตีความใหม่ และนำเสนอในรูปแบบที่สะท้อนตัวตนของศิลปิน งานเหล่านี้ช่วยขยายความเข้าใจของผู้ชม ทำให้พวกเขาเห็นว่าพุทธศิลป์สามารถถ่ายทอดได้ในรูปแบบที่หลากหลาย และเชื่อมโยงกับผู้คนได้อย่างลึกซึ้ง
จัดแสดงผลงานนิทรรศการศิลปะ
จากผลงานทั้งหมดที่สร้างสรรค์ขึ้นมาในระหว่างที่เรียนในหลักสูตรนี้ มีผลงานชิ้นไหนที่ประทับใจมากที่สุด?
“งานที่ประทับใจที่สุดสำหรับตัวเองคือ “มรณานุสติ” ซึ่งเป็นงานแกะสลักโครงกระดูกบนฝาโลงที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว งานชิ้นนี้โดดเด่นด้วยความเรียบง่ายและการสื่อสารที่ตรงไปตรงมา แต่ในความเรียบง่ายนั้นเองกลับทรงพลังอย่างยิ่ง เพราะวัสดุที่ใช้คือฝาโลงศพ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความตายที่ทุกคนรู้จักและมีความรู้สึกผูกพันโดยไม่ต้องการคำอธิบายใด ๆ
แม้ว่าฝาโลงจะไม่ต้องผ่านการดัดแปลงหรือแกะสลักเพิ่มเติม คนก็สามารถรับรู้ถึงความหมายของมัน แต่เมื่อมีการนำกระบวนการของ ทัศนศิลป์ และการทำงานเชิงศิลปะเข้ามาผสมผสาน มันกลับทำให้ความหมายและความรู้สึกนั้นชัดเจนขึ้น ในเชิงรูปธรรมช่วยให้คนทั่วไปเห็นภาพได้ง่ายและเข้าใจได้ลึกซึ้งขึ้น
งานชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่า บางครั้ง ความซับซ้อนหรือการใส่รายละเอียดที่มากเกินไปอาจกลายเป็นอุปสรรคในการสื่อสาร ในขณะที่ความเรียบง่ายและตรงไปตรงมากลับสามารถเข้าถึงหัวใจของผู้คนได้มากกว่า แต่ความเรียบง่ายนั้นต้องอาศัยความเข้าใจร่วมกันหรือประสบการณ์ที่ผู้คนทั่วไปมีต่อวัตถุหรือบริบทของงาน เช่น โลงศพที่เป็นสิ่งที่ทุกคนคุ้นเคยและเชื่อมโยงกับความตาย
“มรณานุสติ” จึงไม่ใช่เพียงผลงานศิลปะ แต่ยังเป็นสื่อกลางที่เตือนใจถึงความไม่เที่ยงแท้ของชีวิต และชี้ให้เห็นถึงพลังของการสื่อสารที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังในเชิงความรู้สึกและความเข้าใจของผู้ชม”
ในช่วงที่ทำงานศิลปะในระยะเวลาปีที่ผ่านมาค้นพบไหมว่าการที่จะก้าวไปในเส้นทางศิลปะหรือการเป็นศิลปินมืออาชีพ และเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จ เส้นทางนี้มีอุปสรรคหรือข้อกังวลใจใดบ้าง?
“อุปสรรคของการทำงานศิลปะ อุปสรรคจริง ๆ ถามว่ามีไหม ก็มีในแง่ที่ว่าโอกาสในการนำเสนอหรือว่าในการที่จะนำเสนอผลงานตัวเองในรูปแบบนิทรรศการเต็มรูปแบบ ค่อนข้างน้อยถ้าอยู่เชียงรายก็ต้องยอมรับว่านี่คือความกังวลใช่ไหม ก็ใช่ เพราะอะไรเพราะศิลปินไม่ได้ห่วงเรื่องการทำงานนะ แต่ศิลปินห่วงเรื่องโอกาสในการที่จะนำเสนอผลงานของตัวเองมากกว่า
เพราะโอกาสยังไงต้องยอมรับว่าทั่วประเทศนั้นสู้กรุงเทพไม่ได้ ดังนั้นการที่คนที่อยู่ในส่วนของภูมิภาคหรือว่าไม่ได้อยู่ที่กรุงเทพ โอกาสจะน้อยกว่าในการจัดแสดงผลงาน ดังนั้นตรงนี้เราก็ต้องหาวิธีอื่นในการที่จะนำเสนอผลงานตัวเอง แต่ถามว่าเรื่องความเครียดเรื่องไอเดียหรืออื่น ๆ เราไม่กังวลอยู่แล้ว เพราะว่าเรามีไอเดียเรามีแนวความคิดเรามีวิธีการนำเสนอผลงาน ของศิลปินทุกคนมันมีอยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องพวกนี้ไม่ห่วงหรอกเรื่องไอเดียตัน เรื่องคิดงานไม่ออก ไอเดียมันมีจนบางครั้งเราทำไม่ทันด้วยซ้ำ”
และนี่คือบทสนทนาที่เราได้พูดคุยกันหลังจากคุณเอกณัฏฐ์สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรพุทธศิลปกรรม ตลอดระยะเวลา 1 ปีของการเรียน ไม่เพียงแค่ช่วยให้ผู้เรียนสร้างสรรค์และพัฒนาผลงานศิลปะของตนเองเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงผลงานสู่สาธารณชนในสถานที่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ
ผลงานที่ได้รับรางวัลและรับคัดเลือกให้ร่วมจัดแสดงในนิทรรศการระดับชาติ ในช่วงปีที่ผ่านมา
“ทางผ่านสู่นิพพาน” เป็นผลงานแกะลวดลายบนไม้ (พลาสวู้ด) ด้วยเทคนิคเฉพาะตัวของศิลปิน นอกจากเทคนิคแล้ว ลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ยังสะท้อนความเป็นตัวตนของ เอกณัฏฐ์ ได้อย่างชัดเจน
ผลงานของเขามักเชื่อมโยงกับความเชื่อและสัญลักษณ์ในตำนานโบราณ ซึ่งสะท้อนถึงความหลงใหลส่วนตัวในเรื่องราวเก่าแก่ ศิลปินใช้เรื่องเล่าเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานที่เต็มไปด้วยความหมายและเชิงสัญลักษณ์ที่ลึกซึ้ง
ต่างกันแต่กลมกลืน เป็นผลงานในซีรี่ย์ Tree Spirit ที่ต่อยอดมาจากแนวความคิดจากผลงานต้นไม้ชิ้นแรกขณะเรียนอยู่ในหลักสูตรพุทธศิลป์ และผลงานชิ้นนี้ได้รับคัดเลือกให้ร่วมแสดงนิทรรศการศิลปะจิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 45 แรงบันดาลใจในซีรี่ย์นี้เกิดจากการสังเกตชีวิตความเป็นมาเป็นไปของสิ่งรอบตัว (ติดตามอ่านเพิ่มเกี่ยวกับซีรี่ย์ Tree Spirit ในบทความหน้า)
“ผีสอนผี” เป็นผลงานที่สะท้อนเอกลักษณ์ลายเส้นของศิลปินได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะลวดลายของเมฆด้านหลังที่เป็นลายเส้นเฉพาะตัว ซึ่งมักปรากฏในผลงานอื่น ๆ ของเขาเช่นกัน
ผลงานชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากข่าวสารที่พบเห็นได้บ่อยเกี่ยวกับผู้ที่อุปโลกน์ตนเองเป็นอาจารย์หรือเจ้าสำนัก และเผยแพร่คำสอนที่บิดเบือนความจริงจนทำให้ผู้คนหลงเชื่อ โดยเฉพาะผู้ที่มีจิตใจอ่อนแอ มักตกเป็นเหยื่อ ถูกชักนำให้กราบไหว้บูชาเพราะเข้าใจผิดว่านั่นคือที่พึ่งพิงของตนเอง
“Change with Time (เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา)”
ผลงานชิ้นนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของซีรีส์ Tree Spirit ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการสังเกตต้นไม้ในสถานที่ที่ศิลปินเคยวิ่งเล่นในวัยเด็ก เมื่อเวลาผ่านไป แม้จะขับรถผ่านสถานที่แห่งนั้นบ่อยครั้ง แต่ต้นไม้กลับไม่เคยดึงดูดความสนใจอีกเลย จนกระทั่งเมื่อโตขึ้น ย้ายที่อยู่ไป และวันเวลาล่วงเลยไปหลายสิบปี
เมื่อศิลปินได้กลับมาที่บ้านในวัยเด็ก เขาสังเกตเห็นว่าต้นไม้ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำกลับทรุดโทรมตามกาลเวลา สิ่งนี้ทำให้เขาฉุกคิดว่า สถานที่ที่เคยมอบความสุขให้เขาในอดีตเปลี่ยนแปลงไป และหากเปรียบต้นไม้เป็นคน ก็คงเหมือนผู้ใหญ่ที่คอยมองดูเราเติบโต หรือเฝ้าดูชีวิตของผู้คนที่ผ่านไปมา
ต้นไม้ในสถานที่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวจึงเปรียบเสมือนหมุดหมายแห่งความทรงจำ หากต้นไม้พูดได้ มันอาจถ่ายทอดเรื่องราวมากมายที่ได้เห็นและสัมผัสผ่านช่วงเวลาที่ยาวนาน นี่คือความงดงามที่ศิลปินต้องการถ่ายทอดผ่านผลงานชิ้นนี้
“เส้นทางสู่สวรรค์” ถือเป็นผลงานที่ศิลปินได้ลองใช้เทคนิคใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน เป็นสื่อผสม โดยใช้ผ้าบนกระดาษลูกฟูกตัดให้เป็นลายเส้น และนำผ้ามาทับกันเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นมีสีแตกต่างกัน ชั้นบนใช้ผ้าสีดำ แทนจิตวิญญาณที่ยังมีกิเลส ซึ่งไกลห่างจากสวรรค์ ตามความเชื่อในศาสนา สวรรค์คือสถานที่ของความดีงาม ความสุข ความบริสุทธิ์ ส่วนในชั้นอื่น ๆ รองลงมาแทนด้วยผ้าสีที่อ่อนลงแต่ก็ยังคงมีสีสัน จนถึงชั้นสุดท้ายสีขาวเป็นตัวแทนของสวรรค์
“เวลาที่เหลืออยู่” เวลาที่ผ่านมาของเรามักมีช่วงที่เรายังจดจําได้ตลอด ไม่ว่าเวลานั้นจะผ่านไปนานเท่าไร ความทรงจําของเรามีทั้งเรื่องดี และ เรื่องร้าย แต่นั่นก็ทําให้เราเป็นเราได้ในทุกวันนี้
ผลงานชิ้นนี้สร้างสรรค์จากวัสดุเหลือใช้ จากงานชิ้นก่อน นำมาเย็บติดกันเป็นชั้น ๆ เพื่อสื่อถึงความทรงจำ ที่มีทั้งดีและไม่ดี
ขยะ หมายเลข 1 – ผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานที่สะท้อนเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ศิลปินได้ออกไปสำรวจแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในจังหวัดเชียงราย นอกจากความสวยงามของสถานที่แต่มีสิ่งหนึ่งที่มักจะพบเจอคือขยะที่นักท่องเที่ยวทิ้งไว้ ไม่ว่าจะเป็นขวดเครื่องดื่ม ถุงพลาสติกต่าง ๆ เขาจึงได้เก็บขยะจากสถานที่เหล่านั้นนำมาทำเป็นงานศิลปะภาพของตัวเอง เพื่อสะท้อนตัวตนของมนุษย์ในอีกมุมหนึ่ง
จากการพูดคุยและผลงานที่เรารวบรวมในวันนี้ ทำให้ได้เห็นถึงการเติบโตของศิลปิน เอกณัฏฐ์ เธียรเศรษฐกุล ตลอดระยะเวลา 1 ปีในหลักสูตร พุทธศิลปกรรม ที่ได้เปิดโอกาสให้เขาได้ทดลอง สร้างสรรค์ และค้นพบตัวตนในฐานะศิลปินผู้ผสานศิลปะแบบดั้งเดิมและความร่วมสมัยเข้าด้วยกัน
ผลงานทั้งหมดไม่เพียงแต่เป็นภาพสะท้อนของกระบวนการเรียนรู้ในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ยังแสดงถึงความทุ่มเทและความตั้งใจที่ศิลปินได้มอบให้กับทุกชิ้นงาน หวังว่าผู้อ่านจะได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานเหล่านี้ พร้อมทั้งเข้าใจมุมมองของศิลปินที่ต้องการสื่อสารผ่านศิลปะมากขึ้น
กดติดตามช่องทางต่าง ๆ ของเรา เพื่อไม่ให้พลาดเกี่ยวกับข่าวสารกิจกรรมและบทความใหม่ ๆ
Facebook : https://facebook.com/imartgallerystudio
Instagram : https://instagram.com/imartgallerystudio