
Tree Spirit เป็นผลงานศิลปะที่สะท้อนถึงความเชื่อมโยงลึกซึ้งระหว่างมนุษย์กับสถานที่ที่มีความสำคัญทางจิตวิญญาณ โดยศิลปินสร้างสรรค์ผลงานออกมาเป็น ซีรีส์ ที่ใช้ต้นไม้เก่าแก่เป็นสัญลักษณ์และ “พยานเงียบ” ของความสัมพันธ์นี้ ต้นไม้เหล่านี้ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างอดีต ปัจจุบัน และจิตวิญญาณของผู้คน ซึ่ง หยั่งราก ในสถานที่ที่มีความศักดิ์สิทธิ์หรือมีความหมายทางจิตวิญญาณ ในชุมชนและวัฒนธรรม
ในฐานะผู้สังเกตการณ์ที่เงียบงัน ต้นไม้เก่าแก่เหล่านี้เป็นพยานต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้คน ชุมชน และความเชื่อ ความศรัทธา ตามกาลเวลา
วันนี้เราจึงได้ชวนศิลปิน เอกณัฏฐ์ เธียรเศรษฐกุล ซึ่งเป็นเจ้าของผลงาน มาพูดคุยถึงที่มาที่ไปและแรงบันดาลใจ รวมถึงเรื่องราวเกี่ยวกับผลงานในซีรีส์นี้กันค่ะ
iMArt : อยากให้เล่าถึงที่มาที่ไปเกี่ยวกับผลงานชุดนี้ Tree Spirit ว่ามีเรื่องราวความเป็นมาและแรงบันดาลใจอย่างไรคะ?
ศิลปิน : จริง ๆ ผลงานชุดนี้ (Tree Spirit) ต่อยอดมาจากผลงานที่มีชื่อว่า Change with Time (เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา) ที่เคยจัดแสดงที่ Art Gallery Central Plaza เชียงราย ครั้งแรกกับกลุ่มพุทธศิลป์ ซึ่งผลงานนั้นคือต้นไม้ต้นแรก

แต่จุดเริ่มแรกก็ไม่ได้มองถึงคอนเซปต์อะไรมากขนาดนั้น เพราะว่าครั้งแรกเราแค่ทำตามความรู้สึก ทำตามจินตนาการ ว่าต้นไม้เป็นสัญลักษณ์ของการคงอยู่มาตั้งแต่แรก เราเป็นเพียงตัวละครหนึ่ง คือในสายตาคนเราอาจมองว่าต้นไม้เป็นเพียงสิ่งที่อยู่รอบตัว แต่หากพิจารณาให้ลึกซึ้ง ต้นไม้บางต้นมีอายุยืนยาว อยู่มาก่อนมนุษย์ และตัวเราเองต่างหากที่เป็นเสมือนตัวละครที่ไปอยู่ในเรื่องราวของต้นไม้
ต้นไม้ที่อยู่มายาวนานก็เหมือนกับผู้ใหญ่ที่เกิดมาก่อน เขาเป็นสิ่งมีชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง ถ้าเปรียบเป็นคน ก็คงเหมือนผู้ใหญ่ที่เฝ้ามองเด็กเติบโต ต้นไม้เหล่านั้นสะท้อนให้เห็นสองเรื่อง เรื่องแรก คือ ต้นไม้เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา แต่เราไม่ได้ให้ความสนใจ เราใช้ชีวิตตามวิถีของเราโดยไม่ได้ตระหนักถึงการมีอยู่ของมัน
เรื่องที่สอง เมื่อเรานึกถึงต้นไม้ใหญ่ที่เราเคยวิ่งเล่นตอนเป็นเด็ก พอเรากลับไปดูก็พบว่า ต้นไม้มันก็แก่ลง มันก็แห้งเหี่ยวตามกาลเวลา ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา เรามัวแต่ยุ่งอยู่กับเรื่องต่าง ๆ จนวันเวลาผ่านไป เราก็แก่ลง ไม่ต่างจากต้นไม้ แต่ต้นไม้เขาเกิดมาก่อน เขาคงเห็นอะไรมามากมาย เห็นเด็กวิ่งเล่น เห็นคนผ่านไปมา เห็นสังคมที่มันเปลี่ยนไป นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความคิด
เราจึงเกิดความสนใจและแรงบันดาลใจในการตั้งคำถามว่า แล้วต้นไม้อื่น ๆ ล่ะ ? ต้นไม้ที่มีอายุเก่าแก่ในที่ต่าง ๆ ก็คงมีเรื่องราวมากมายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของมัน แม้แต่ต้นไม้ที่เราเห็นมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งเติบโตมาใกล้เคียงกับเรา อายุเพียงไม่กี่สิบปี มันก็ยังได้เห็นเรื่องราวของมนุษย์ เห็นเราตั้งแต่เล็กจนโต
แล้วต้นไม้ที่อยู่มาเป็นร้อยเป็นพันปีล่ะ ? โห! เขาคงได้เจออะไรมามากมาย นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราสนใจทำงานเกี่ยวกับ “ต้นไม้ที่มีเรื่องราว” ต้นไม้ที่มีอายุยืนยาว
เราแค่อยากรู้ว่า… ต้นไม้ต้นนั้นผ่านอะไรมาบ้าง

ตัวอย่างเช่น ที่พุทธสถานเวียงกือนา อย่างที่พูดไปก่อนหน้านี้ว่า ต้นไม้ต้นแรกทำให้เราอยากสำรวจต้นอื่น ๆ เราจึงนึกถึง ต้นโพธิ์เก่าแก่ ที่มีความสำคัญกับคนในท้องถิ่นที่เราอาศัยอยู่
ดังนั้น ผลงานชิ้นที่สองของซีรี่ย์นี้ ก็คือต้นไม้ที่อยู่ใกล้ชุมชนของเราที่พุทธสถานเวียงกือนา ซึ่งนอกจากจะเป็นศูนย์กลางแห่งศรัทธาของชุมชนแล้ว ยังเป็นสถานที่ที่มีประวัติศาสตร์อันน่าสนใจ
ประวัติคือที่นั้นมีพระพุทธรูปเก่าแก่ สร้างขึ้นโดย พระเจ้ากือนา เจ้าเมืองล้านนา (เชียงใหม่) เมื่อสมัย 700 กว่าปีมาแล้ว แต่พระพุทธรูปองค์นั้นกลับถูกต้นโพธิ์ต้นนี้ปกคลุมจนแทบจะมองไม่เห็น
ลองคิดดูสิ ต้นไม้นี้อยู่มานานแค่ไหน และตลอดช่วงเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมา มันได้พบเจอเรื่องราวอะไรมาบ้าง ?
มันน่าสนใจจริง ๆ !


ถึงแม้บางต้น เราอาจพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีอายุอยู่มานานแค่ไหน แต่หากคาดคะเนจากขนาดและลักษณะของต้น อย่างน้อยก็คงมีอายุหลายสิบปี หรืออาจมากกว่าร้อยปี
iMArt : แล้วต้องเป็นต้นไม้แบบไหนที่คุณเลือกนำมาทำงานคะ ?
ศิลปิน : ไม่ใช่ทุกต้นที่เราจะสนใจ เพราะถ้าพูดถึงต้นไม้ที่มีอายุมากจริง ๆ ป่าก็เต็มไปด้วยต้นไม้เหล่านั้น แต่สิ่งที่ทำให้ต้นไม้บางต้นมีความพิเศษและกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของงานเรา คือ ต้นที่สามารถสืบค้นเรื่องราวได้ เราสามารถรู้ได้ว่าต้นนั้นเคยพบเจออะไรมาบ้าง ผ่านเหตุการณ์อะไรมา หรืออาจเป็นเพราะ สถานที่ที่ต้นไม้นั้นอยู่มีความสำคัญ

อย่างเช่น ต้นศรีมหาโพธิ์ที่วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นหน่อที่นำมาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย เรารู้ประวัติของต้นนี้ และมันเติบโตอยู่ตรงนั้นมาเป็นเวลานานจนกลายเป็นต้นขนาดใหญ่ ก็แสดงว่ามันต้องผ่านเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญมามากมาย
ต้นไม้เก่าแก่แต่ละต้นมักมี เรื่องราวของมันเอง สะท้อนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของพื้นที่ เช่น ต้นยางนาที่วัดเจดีย์หลวง
ในอดีต ต้นยางนา เป็นต้นไม้ที่นิยมปลูกไว้ตามเส้นทางเดินทาง เพราะต้นยางมีลำต้นสูงใหญ่ สามารถมองเห็นได้จากระยะไกล จึงกลายเป็นเหมือน “หมุดหมาย” ให้ผู้เดินทางรู้ว่ากำลังมุ่งหน้าไปที่ใด
เช่นเดียวกับที่ อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ มีการปลูกต้นยางนาเรียงรายไปตามแนวถนน เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกเส้นทางการค้าขายในสมัยก่อน แม้เราอาจไม่รู้แน่ชัดว่าใครเป็นผู้ปลูก แต่เรารู้ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะมีจุดประสงค์ชัดเจน
สำหรับ วัดเจดีย์หลวง ก็เช่นกัน ต้นยางนาที่ปลูกไว้ที่นี่มีไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์บอกทาง หากเดินทางมาไกลและเห็นต้นยางสูงตระหง่าน ก็หมายความว่า กำลังใกล้ถึงวัดเจดีย์หลวงแล้ว

อย่างในภาพ — เห็นไหมว่าต้นยางนาสูงกว่าเจดีย์ นั่นเป็นเพราะในอดีต ต้นไม้นี้ถูกใช้เป็นหมุดหมายของเมือง เพื่อให้ผู้เดินทางจากระยะไกลสามารถมองเห็นและรู้ว่าตัวเองกำลังเข้าใกล้วัดเจดีย์หลวงแล้ว
หรือแม้แต่คนที่มองจากระยะไกลก็จะรู้ว่า จุดนี้คือใจกลางเมืองเชียงใหม่ ต้นไม้เหล่านี้จึงมีมานานตั้งแต่ช่วงที่มีการสร้างวัด
ดังนั้น ต้นนี้ที่นำมาสร้างงานศิลปะ จึงมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คน เป็น หมุดหมายของผู้เดินทาง เช่นเดียวกับต้นยางที่ อำเภอสารภี ซึ่งปลูกเป็นแนวยาวตามเส้นทางการค้าระหว่างลำพูนและเชียงใหม่
ในอดีต ต้นยางถูกปลูกเพื่อช่วยนำทาง ให้พ่อค้าและนักเดินทางที่เดินเท้ามายังเมืองเชียงใหม่ อีกทั้งยังให้ร่มเงาในช่วงกลางวัน ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น และช่วยป้องกันการหลงทางในพื้นที่ป่ารกชัฏ
เห็นไหมว่าต้นไม้ที่เรานำมาสร้างสรรค์ผลงาน ล้วนมีความหมายเฉพาะตัว ต้นไม้ในป่าอาจมีอายุเก่าแก่เช่นกัน แต่ไม่มีเรื่องราวที่สามารถเชื่อมโยงกับผู้คนและสถานที่ได้
ดังนั้น ผลงานที่เกี่ยวข้องกับต้นไม้นี้ จึงมีหลายชิ้น เรียกว่าเป็น “ซีรีส์” เพราะเป็นการสำรวจ เรื่องราวที่เชื่อมโยงกันจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง บางสถานที่อาจมีประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่องกัน หรือบ้างก็เป็นสถานที่ที่เราต้องการหยิบยกขึ้นมาเล่าโดยเฉพาะ ทั้งหมดนี้ทำให้งานชุดนี้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างเช่น วัดอุโมงค์ ซึ่งก็เป็นวัดเก่าแก่ แต่สาเหตุที่เลือกที่นี่ ไม่ใช่เพียงเพราะประวัติของวัด แต่เป็นเพราะ วัดนี้มีความผูกพันส่วนตัวกับเรา
วัดอุโมงค์คือสถานที่ที่เราเคยบวช ทั้งที่เราเกิดมาในครอบครัวที่นับถือศาสนาอื่น แต่สุดท้ายเรากลับมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา และได้เข้าพิธีบวชที่นี่
ดังนั้น วัดอุโมงค์จึงไม่ใช่เพียงสถานที่เก่าแก่ทางประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญในชีวิตของเราด้วย

อย่างต้นไม้ในละแวกนี้ที่วัดอุโมงค์ส่วนใหญ่ล้วนเป็นต้นไม้เก่าแก่ (พร้อมเปิดภาพให้ดู) แต่ต้นไม้ที่ถูกเลือกมาสร้างงานศิลปะ คือต้นไม้ที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าอุโมงค์พอดี
เพราะตรงจุดนี้มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ในอดีตวัดนี้เคยผ่านช่วงสงคราม มีเหตุการณ์ทิ้งระเบิด และเกิดเรื่องราวมากมาย ต้นไม้ในบริเวรนี้ จึงเป็นเหมือน “พยานเงียบ” ที่เห็นทุกการเปลี่ยนแปลง
ลองนึกดูว่าถ้าต้นไม้เหล่านี้เป็นคน เขาคงเล่าเรื่องได้ยาวมาก เพราะเขาอยู่มาตั้งแต่ยุคสร้างวัด ผ่านช่วงเวลาที่วัดเจริญรุ่งเรือง จนกระทั่งวัดถูกทิ้งร้าง แล้วกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
นี่จึงเป็นเหตุผลที่เลือกตรงนี้มาสร้างงานศิลปะ เพราะมันสะท้อนถึงกาลเวลาและการเปลี่ยนแปลงของสถานที่แห่งนี้

ต้นงุ้นยักษ์
ต้นงุ้นยักษ์ต้นนี้เป็นต้นที่เราไปสำรวจหรือว่านำมาทำงานลำดับที่สาม ต่อจากต้นโพธิ์ที่พุทธสถานเวียงกือนา
“ต้นงุ้นยักษ์” เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ที่คนในท้องถิ่นให้ความสำคัญ
ต้นงุ้นยักษ์ หรือ “ต้นเก๊างุ้น” (ต้นสมพง) เป็นต้นไม้เก่าแก่ขนาดใหญ่ ต้องใช้คน 29 คนโอบ ตั้งอยู่กลางหมู่บ้านห้วยปูพัฒนา หมู่ที่ 8 ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยง ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์ต้นไม้นี้ไว้ และเรียกกันว่า “ต้นโป่”
จริง ๆ ต้นงุ้นแบบนี้ก็มีเยอะในป่าใหญ่ แต่ต้นนี้พิเศษตรงที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดของเรา และคนในชุมชนให้ความสำคัญกับมันมาก พื้นที่ตรงนั้นมีการอพยพโยกย้ายของชาวบ้านและชนกลุ่มน้อยอยู่ตลอด ต้นนี้ก็เลยเป็นเหมือนสิ่งที่อยู่มานานก่อนผู้คน เป็นสิ่งที่ผูกพันกับชุมชน
ชาวบ้านก็ดูแลต้นไม้นี้อย่างดี มีทำป้าย ทำศาลไว้ตามความเชื่อของชุมชน
ลองคิดดูว่าต้นไม้นี้ อยู่มาตั้งแต่ตรงนี้เป็นป่า ยังไม่มีใครเข้ามาอยู่ นั่นก็แปลว่า มันเป็นอีก “หมุดหมาย” หนึ่งที่ได้เห็นเรื่องราวของผู้คนในชุมชนที่เข้ามาตั้งรกราก
ถ้ามันพูดได้ ก็คงจะบอกว่า “ฉันเห็นทุกคนมาตั้งแต่เล็กจนโตนะ คนนี้เป็นแบบนี้ ๆ” หรืออาจจะ “เห็นตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นปู่ รุ่นทวดของพวกเธอแล้วล่ะ”
มันก็เหมือนต้นไม้ต้นแรกของซีรีส์นี้เลย ถ้าพูดได้ก็คงจะพูดอะไรแบบนี้เหมือนกัน

ภาพนี้เป็นภาพบนพุทธอุทยานดอยช้าง ถ้าใครเคยขึ้นไปเที่ยวบนดอยช้างจะรู้ว่ามีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เรียกว่า พุทธอุทยานดอยช้าง เป็นพื้นที่แห่งธรรมะและธรรมชาติ
ภายในพุทธอุทยานจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้กราบไหว้บูชาหลายองค์ ที่นี่มีความเงียบสงบ มีมนต์ขลัง และเนื่องจากเป็นพื้นที่เขตอุทยาน สภาพป่าไม้ จึงมีความอุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้หลากหลายชนิด เป็นป่าไม้ที่เต็มไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ที่พึ่งพากัน ผลงานที่ถ่ายทอดออกมาจึงให้ชื่อว่า “เติบโตไปด้วยกัน”
อีกอย่าง ดอยช้างก็เป็นสถานที่ที่เราไปบ่อยก่อนที่จะทำงานศิลปะนี้เสียอีก เป็นสถานที่ที่เรารู้สึกประทับใจและได้รับพลังงานดี ๆ ทุกครั้งที่ไป


iMArt: นอกจากต้นไม้ที่มีความเกี่ยวข้องกับพุทธสถานหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แล้ว มีต้นไม้ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่ออื่น ๆ อีกไหม ? อย่างต้นตะเคียนคู่ ที่ไม่ได้อยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ต้นนี้มีแรงบันดาลใจจากอะไรคะ?
ศิลปิน : ต้นตะเคียนคู่ที่นำมาทำงาน เป็นต้นที่อยู่ระหว่างทางก่อนเข้าเมืองเชียงราย ตรงแยกสถานีขนส่งแห่งใหม่ ซึ่งก็เป็นต้นไม้สำคัญ ไม่รู้ว่าตอนแรก ๆ มีคนตั้งใจหรือไม่ตั้งใจปลูกไว้ แต่มันเหมือนเป็นทางผ่านก่อนเข้าตัวเมืองเชียงรายพอดี
มันก็คล้าย ๆ ต้นยางหลวงที่เชียงใหม่ คือเป็นเหมือนหมุดหมาย ให้คนที่สัญจรไปมารู้ว่าเป็นประตูเข้ามาเชียงรายแล้ว อะไรแบบนี้ แล้วต้นตะเคียนส่วนใหญ่มักจะมีสตอรี่ มีความเชื่อ มีตำนานเกี่ยวกับเรื่องอภินิหาร อย่างเรื่องเจ้าแม่ตะเคียน ที่ตรงนี้เค้าก็มีความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าแม่ตะเคียนเหมือนกัน

แล้วต้นนี้เป็นตะเคียนคู่ด้วย แต่เดิมเขาจะมีอีกต้นที่เป็นคู่ของเขา อยู่เป็นคู่กัน แต่ต้นที่โตมาด้วยกัน เกิดตายก่อนเพราะถูกฟ้าผ่า ทางจังหวัดเลยปลูกต้นใหม่มาทดแทน และมีการอนุรักษ์ไว้ ถือว่าเป็นต้นไม้สำคัญของจังหวัดเชียงรายเลยก็ว่าได้ มีการบวงสรวง มีการบูชา และมีการอนุรักษ์ให้เป็นสิ่งสำคัญของเมืองอะไรแบบนี้ แม้กระทั่งตอนที่อีกต้นโดนฟ้าผ่าคนในท้องถิ่นก็รู้สึกว่า มันจะเกิดอาเพศไหม หรือเป็นลางบอกเหตุอะไรไหม เห็นไหมว่ามันกระทบกระเทือนกับจิตใจของคน
ไม่ใช่ว่าเป็นต้นไม้อะไรก็ได้ อย่างต้นทั่วไป คนจะตัดจะโค่นไปก็ไม่มีใครรู้สึก ไม่มีใครมีอารมณ์ร่วม
ดังนั้น ต้นที่เราเลือก คืออย่างน้อยต้องสะท้อนจิตใจ หรือว่ามันต้องมีความหมายกับบางสิ่งบางอย่างของคนด้วย
iMArt : ตอนนี้ในซีรีส์ Tree Spirit มีกี่ภาพแล้วคะ เพราะเห็นว่าใช้ชื่อเป็นซีรีส์ แสดงว่าผลงานในชุดนี้น่าจะมีหลายชิ้น และที่เห็นตอนนี้ก็จะเป็นต้นไม้ที่มีเรื่องราวอยู่ในเชียงรายและเชียงใหม่ใช่ไหมคะ ?
ศิลปิน : ตอนนี้ที่ทำออกมาก็มีประมาณ เกือบ 10 ภาพ หรือ 10 ต้นแล้ว ก็มีชิ้นหนึ่งที่ส่งประกวดและได้รับคัดเลือกเป็นผลงานร่วมแสดงในนิทรรศการจิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 45 ชื่อผลงาน ต่างกันแต่กลมกลืน (วัดพระสิงห์) ส่วนชิ้นอื่น ๆ มีนำไปจัดแสดงนิทรรศการกลุ่ม เพื่อให้คนทั่วไปได้เห็นกันบ้าง ก่อนที่จะรวบรวมจัดนิทรรศการเดี่ยวในอนาคต
ผลงานที่ทำไปแล้วหรือต้นไม้ที่เราออกสำรวจ ตอนนี้จะเป็นต้นที่อยู่ในเชียงรายและเชียงใหม่ ทำไมถึงมีแค่ต้นที่อยู่ในเชียงรายและเชียงใหม่ จริง ๆ ก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นสองพื้นที่นี้เท่านั้น แต่ที่เริ่มเชียงราย เชียงใหม่ก่อน เพราะหนึ่ง คือเราอยู่เชียงรายแล้วก็ไป ๆ มา ๆ เชียงใหม่อยู่แล้ว
ดังนั้น มันเป็นการเริ่มต้นจากเรื่องราวใกล้ตัวที่เราสนใจ แล้วเชียงใหม่ต้องเข้าใจว่าเชียงใหม่ – เชียงรายเป็นเมืองที่ว่า ก่อนที่เชียงใหม่จะเป็นเมืองหลวงของล้านนา หรือว่าเป็นเมืองสำคัญของล้านนา เชียงรายเป็นมาก่อน ดังนั้น ความเชื่อมโยงระหว่างเชียงราย-เชียงใหม่ จึงมีความเชื่อมโยงกันมากกว่า
อย่างเช่นเรื่องราวที่เกี่ยวกับพระเจ้ากือนา พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ล้านนา (เชียงใหม่) แต่ท่านก็เดินทางไปมาระหว่างเชียงใหม่ กับ เชียงราย (เชียงแสน) เพราะอะไร ? เพราะเป็นเหมือนเมืองพี่เมืองน้องกันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าพอเชียงใหม่ได้ตั้งเป็นเมืองหลวง เชียงรายก็เลยกลายเป็นเมืองรองไป แต่ก็มีความสำคัญกันอยู่ เพราะยังไงก็มีการติดต่อค้าขายกัน คนก็เป็นคนเผ่าพันธุ์เดียวกัน อะไรแบบนี้
ดังนั้น เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ค่อนข้างมีความเกี่ยวเนื่องกัน ก็อย่างที่บอกว่า บางครั้งเราไปสำรวจเรื่องราวของต้นหนึ่ง แต่มันก็ทำให้เราไปเจอสิ่งที่เชื่อมโยงกับอีกสถานที่หนึ่ง อย่างเช่นเวลาเราไปเที่ยวที่หนึ่ง แล้วมีสถานที่อีกที่หนึ่งคล้าย ๆ กัน หรือว่าคนสร้างคนเดียวกัน มันก็ทำให้เราตามจากจุดตรงนั้นไปยังอีกจุดหนึ่ง
แต่ละต้นที่อยู่ในสถานที่ต่าง ๆ ก็จะมีความเชื่อมโยงกัน หรือบางต้นมันอาจจะไม่ได้เชื่อมโยงกันด้วยสตอรี่ของเขา แต่มันเชื่อมโยงกับความรู้สึกของเรา หรือว่าประสบการณ์ของเรา
อย่างที่วัดพระสิงห์ พระอารามหลวง เป็นวัดเก่าแก่ วัดคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเชียงราย สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ามหาพรหมพระอนุชาของพระเจ้ากือนาธรรมิกราช เจ้าเมืองเชียงใหม่ แล้ววัดอยู่ตรงข้ามอนุสาวรีย์ของ ร.๕ ซึ่งเราเองมักจะไปไหว้สักการะอนุสาวรีย์ ร.๕ บ่อย ๆ


แล้วมุมที่เรามักจะเห็นตลอดคือตรงหน้าวัด มีต้นไม้ (ต้นโพธิ์กับต้นลีลาวดี) ในมุมมองที่เราเห็นเข้าเป็นประจำ เขาก็เป็นต้นไม้เหมือนกัน แต่ในงานศิลปะที่เราเลือกจะถ่ายทอดออกมา มันเป็นมุมมองที่ว่าต้นลั่นทมมีอายุน้อย แต่ต้นโพธิ์เขาเป็นต้นอายุเยอะ แล้วฟอร์มก็คนละอย่างกัน
ดังนั้นเรารู้สึกว่าสองสิ่งมันมีความแตกต่างกัน อายุก็ต่างกัน แต่พอมาอยู่ด้วยกัน มันดูดีนะ เราก็เลือกที่จะถ่ายทอดมุมนี้ ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องสตอรี่อย่างเดียว มันเป็นเรื่องความประทับใจด้วย
บางทีงานแต่ละชิ้นหรือต้นไม้แต่ละต้นในซีรีส์นี้ เขาไม่ได้เป็นสตอรี่เหมือนกันขนาดนั้น เราไม่ได้เป็นคนทำสารคดีที่จะบอกว่า ต้นไม้นี้เอากิ่งไปปลูกที่ไหนบ้าง เราต้องไปตามหากิ่งของต้นไม้ที่จะไปปลูกสถานที่ต่าง ๆ คือคอนเซปต์เราไม่ใช่อย่างนั้น
iMArt : มาพูดถึงเกี่ยวกับเทคนิคที่ใช้ในซีรีส์นี้กันบ้าง ซีรีส์นี้ใช้เทคนิคใดในการสร้างงานบ้างคะ ?
ศิลปิน: เทคนิคซีรีส์นี้ คือจริง ๆ เราอยากจะถ่ายทอดตามความเป็นจริง ในซีรีส์ Tree Spirit จะต่างจากงานชุดอื่นที่ทำ งานชิ้นอื่นที่ทำสังเกตว่ามันจะมีความ Surrealism คือเป็นเรื่องของจินตนาการ เรื่องของความแฟนตาซีเข้าไปหน่อย
แต่ว่าซีรีส์ของ Tree Spirit อยากถ่ายทอดตามความเป็นจริง ดังนั้น ทำยังไงถึงจะถ่ายทอดตามความเป็นจริงได้ ก็เลยต้องมีการลงพื้นที่จริง เพื่อไปเก็บ Reference ของต้นไม้นั้น ๆ ทั้งกิ่ง ทั้งก้าน ทั้งเรื่องราวของเขา โดยที่ไม่ได้มีการที่จะมาบิดเบือน ก็คือถ่ายทอดออกมาตรง ๆ ตามที่เห็น ซึ่งจะแตกต่างจากงานชุดอื่น


หากเป็นงานชุดอื่น ๆ สังเกตว่าเราจะใส่ความ Surrealism เข้าไปค่อนข้างมาก แต่ใน Tree Spirit เราเลือกถ่ายทอดความเป็น realism ถึงแม้ว่าเทคนิคที่ใช้จะคล้ายกัน เพราะมันเป็นเทคนิคเฉพาะตัวของศิลปิน คือใช้เทคนิคการแกะไม้และการกลิ้งสี ลงสี แบบเดียวกับงานทุกชิ้น แต่วิธีการคิดและการถ่ายทอดจะแตกต่างกัน
ในซีรีส์นี้เราไม่อยากบิดเบือนต้นไม้ เพราะต้นไม้นั้นมีตัวตนจริง ๆ เราจึงต้องการถ่ายทอดความเป็น realism ของต้นไม้เหล่านั้นออกมา โดยไม่ใช้จินตนาการในการวาด หรือการไปเอาภาพจากอินเทอร์เน็ต เราต้องการสำรวจและสัมผัสประสบการณ์ตรงนั้นด้วยตัวเอง

ดังนั้น เราต้องลงพื้นที่จริง เพราะเมื่อเราไปอยู่ตรงนั้น เราจะได้สัมผัสบรรยากาศและความรู้สึกที่ตรงกับสิ่งที่เราต้องการถ่ายทอด ถ้าเราหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตและนำภาพจากอินเทอร์เน็ตมาใช้ ก็เหมือนกับการหลอกตัวเอง เพราะจริง ๆ เราอาจจะไม่ได้อินกับเรื่องราวของมันขนาดนั้น แม้ว่าจะมีคนถ่ายรูปและโพสต์สถานที่นั้น ๆ ไว้ในอินเทอร์เน็ต ซึ่งอาจจะสวยตามมาตรฐานของคนถ่าย แต่เราอยากถ่ายทอดมุมมองที่เราเห็นและรู้สึกจริง ๆ เมื่อไปถึงสถานที่นั้นด้วยตัวเอง
iMArt : มีสถานที่ไหนที่คุณอยากไปสำรวจหรือนำมาทำงานในซีรีส์นี้ไหมคะ ?
ศิลปิน : ตอนนี้ก็มีที่คิดไว้ ถ้าพูดถึงในพื้นที่ใกล้ ๆ คือไม่ไกลเกินไปในการเดินทาง คือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวขุนหลวงวิลังคะ เพราะที่นั่นมีสตอรี่ บางคนบอกว่าเป็นตำนาน บางทีก็บอกว่าเป็นเรื่องเล่า แต่มันก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ คือเรื่องเกี่ยวกับขุนหลวงวิลังคะที่หลงรักพระนางจามเทวี
สถานที่ที่เราคิดถึงคือบริเวณอนุสาวรีย์หรือที่มีรูปปั้นของท่าน ซึ่งตรงนั้นเป็นสถานที่เก่าแก่มีเรื่องราว และมีต้นไม้ใหญ่ที่อยู่มานาน ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายสิบหลายร้อยปี ถามว่าอาจจะจริงหรือไม่จริง ว่าต้นไม้ตรงนั้นเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือไม่ หรือขุนหลวงวิลังคะเคยมาอยู่แถวนั้นหรือไม่ อันนี้เราไม่แน่ใจ
เรื่องของขุนหลวงวิลังคะเป็นเหมือนเรื่องเล่าหรือความเชื่อที่สืบต่อกันมา ซึ่งในเรื่องนั้นก็มีอิทธิปาฏิหาริย์เกี่ยวข้อง ทำให้มันน่าสนใจ แต่ก็ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะนำมาทำงานในซีรีส์นี้หรือไม่ เพราะบางครั้งเมื่อไปสถานที่จริงแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ เราก็อาจจะไม่ทำก็ได้ ตอนนี้มันยังเป็นเรื่องที่เราสนใจมากที่สุดที่อยากไปดูและศึกษาต่อ
iMArt : ซีรีส์นี้ตั้งเป้าหมายไว้ไหม ว่าจะมีทั้งหมดกี่ชิ้น ?
ศิลปิน : ตอนแรก ๆ คิดว่าจะทำ 99 ชิ้น แต่พอคิดไปคิดมา มันรู้สึกเป็นการตั้งเป้าหมายที่ฟิกเกินไป เพราะถ้าเราทำแล้วยังไม่เจอต้นไม้ที่เรารู้สึกโดนใจ หรือยังไม่ได้อินกับเรื่องของเขา เราก็ไม่อยากฝืนทำให้มันครบตามจำนวน ดังนั้น ตอนนี้เลยไม่สามารถบอกได้ว่าจะทำทั้งหมดกี่ชิ้น แต่ก็อยากให้ผู้อ่านติดตามกันต่อไป

iMArt : สุดท้ายแล้วอยากให้พูดถึง Tree Spirit นั้นหมายถึงอะไร ในมุมมองของคุณค่ะ?
ศิลปิน : Tree Spirit ในซีรีส์นี้ไม่ใช่แค่จิตวิญญาณของต้นไม้ในแง่ของธรรมชาติ แต่ยังหมายถึงต้นไม้ในฐานะ “ประจักษ์พยาน” ที่เฝ้ามองความเป็นไปของผู้คนมาตลอดช่วงชีวิตของมัน โดยเฉพาะต้นไม้เก่าแก่ที่มีอายุยืนยาว ซึ่งเคยเห็นเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง และดำเนินต่อไป
ต้นไม้เหล่านี้ไม่ใช่แค่สิ่งมีชีวิตที่หยั่งรากลึกในแผ่นดิน แต่เป็นสัญลักษณ์ของกาลเวลา เป็นผู้เฝ้าดูเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างเงียบงัน แม้จะไม่สามารถพูดได้ แต่ร่องรอยของมันสะท้อนถึงอดีตของชุมชน ความเชื่อ ความศรัทธา และสายสัมพันธ์ของผู้คนที่เชื่อมโยงกันผ่านยุคสมัย
ดังนั้น Tree Spirit ในที่นี้จึงเป็นจิตวิญญาณแห่งความทรงจำ เป็นเสมือนดวงตาที่มองเห็นเรื่องราวของมนุษย์และคงอยู่เพื่อเป็นพยานให้กับกาลเวลา

และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวที่เราได้พูดคุยกับศิลปิน ถึงผลงาน Tree Spirit ค่ะ
Tree Spirit จึงเป็นเหมือนการถ่ายทอดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับต้นไม้ ผ่านมุมมองที่ศิลปินได้สัมผัสและเชื่อมโยงกับต้นไม้ในสถานที่ต่าง ๆ การสำรวจและเก็บข้อมูลจากพื้นที่จริงทำให้ศิลปินเห็นถึงความสำคัญของต้นไม้ที่ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตทางธรรมชาติ แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมโยงทางอารมณ์และประสบการณ์ร่วมในชุมชน ต้นไม้เหล่านี้กลายเป็นประจักษ์พยานของความเชื่อ ความทรงจำ และความศรัทธาของผู้คน
การสร้างสรรค์งานศิลปะในซีรีส์นี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของ “การรักษาความสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัว” ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติหรือผู้คน เพราะทุกสิ่งล้วนมีความหมายและความเชื่อมโยงที่ช่วยให้เราเติบโตและเข้าใจชีวิตมากขึ้น