13/09/2023
Share

เรื่อง : เอกณัฏฐ์ เธียรเศรษฐกุล

ภาพ : ณัฐพงศ์ อินทร์กลิ่น / ธนากร แซ่ลี

ศิลปะที่มุ่งเน้นการอนุรักษณ์ ต่อยอด สร้างสรรค์ ต้องเริ่มจากความรู้ความเข้าใจ  กับ นิทรรศการ พุทธศิลปกรรม รุ่นที่ 2 ปี 65 ICON Art & Culture Space at ICONSIAM

พิธีเปิดนิทรรศการ พุทธศิลปกรรม รุ่นที่ ๒ ประจำปีการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๕ ที่ ICON Art & Culture Space ไอคอนสยาม เมื่อวันเสาร์ ที่ 9 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา เป็นนิทรรศการที่แสดงผลงานของ “ผู้เรียน” ใน”หลักสูตรพุทธศิลปกรรม” ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งก็เป็นรุ่นที่ 2 แล้วที่นำมาจัดแสดงที่ไอคอนสยาม 

หลาย ๆ คนอาจสงสัยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงอยู่จังหวัดเชียงราย แต่ทำไมมาจัดนิทรรศการที่ไอคอนสยาม แล้วหลักสูตรพุทธศิลปกรรมคืออะไร มีด้วยเหรอ เรียนยังไง เข้าเรียนต้องทำอย่างไรบ้าง เรียนแล้วได้อะไร จบไปทำอะไร ซึ่งจากที่เกริ่นมาหลักสูตรนี้มีที่มาที่ไป วันนี้ผมจะค่อย ๆ เล่าให้ฟัง เพราะจำเป็นอย่างมากที่จะได้ทำความเข้าใจถึงการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ รวมไปถึงที่ผ่านมา และ จะจัดในโอกาสต่อ ๆ ไป

หลักสูตรนี้หลัก ๆ เกิดขึ้นมาจาก ท่าน ว.วชิรเมธี (พระเมธีวชิโรดม) อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยมีการร่วมมือกับคณาจารย์ที่เป็นศิลปินหลากหลายท่าน ผู้มีคุณวุฒิอีกมากมาย และ ผู้หลักผู้ใหญ่อีกหลายท่าน ช่วยผลักดันกันจนมีหลักสูตรที่เรียกว่าพุทธศิลปกรรมเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจังหวัดเชียงรายเป็นเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งศิลปะ จังหวัดที่ได้เรียกว่ามีศิลปินผู้ยิ่งใหญ่หลายท่าน เป็นที่เกิดของศิลปินที่มีอิทธิพลอย่างมากในวงการศิลปะไทย ให้เอ่ยชื่อหลาย ๆ ท่านขึ้นมารับรองได้ว่าคนที่คุ้นเคยกับวงการศิลปะต้องร้องอ๋อกันแน่นอน แต่ก็แปลกที่จังหวัดแห่งนี้กลับไม่มีสถาบัน มหาวิทยาลัย หรือ หลักสูตรศิลปะที่ขึ้นชื่อลือชาในระดับสากล หรือ ระดับประเทศเลยซักที่เดียว 

กอรปกับในส่วนของจังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1805 ซึ่งนับเวลาจนถึงวันนี้แล้วก็รวมได้ 761 ปีเลยทีเดียว  เชียงรายเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญในภาคเหนือ จากการที่มีศิลปวัฒนธรรมที่โดดเด่น ผลงานศิลปะ วัดวาอาราม สถาปัตยกรรม และ โบราณสถาน โดยในปี พ.ศ. 2561 มีจำนวนนักท่องเที่ยวรวมมากเป็นอันดับสองในภาคเหนือ รองจากจังหวัดเชียงใหม่ จำนวนราว 3,600,000 คน คิดเป็นชาวต่างชาติราว 620,000 คน สร้างรายได้ให้กับจังหวัดราว 28,500 ล้านบาท แต่ปัญหาของเมืองที่อารยธรรม ศิลปะวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม  โบราณสถาน ฯลฯ ที่มาอย่างยาวนานกลับไม่ค่อยจะหลงเหลือมาให้เห็นในปัจจุบัน สาเหตุหนึ่งก็มาจากการเสื่อสลายไปตามกาลเวลา สงคราม การอพยพโยกย้าย ภัยธรรมชาติ ฯลฯ ปัญหาเหล่านั้นเป็นเหตุสุดวิสัย เป็นเรื่องที่ไม่อาจจะควบคุมได้ แต่น่าเศร้าก็ตรงที่ว่าสิ่งที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันกลับโดนทำลายไปด้วยคำที่ว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์”

โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายมีการนับถือพุทธศาสนาตั้งแต่ยุคก่อตั้งอาณาจักรล้านนา ส่งผลให้รูปแบบสถาปัตยกรรม ศิลปะ จารึก ภาพวาด ลายปูนปั้น ที่มีรูปแบบดั้งเดิมล้วนถูกสร้างขึ้นอยู่ในวัดซะเป็นส่วนใหญ่ แต่ผู้ทำลายที่ “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” กลับเป็นพระสงฆ์ ฆราวาสในพื้นที่ซะเป็นส่วนใหญ่ เพราะความไม่เข้าใจ ไม่เห็นคุณค่า หรือเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ แต่ที่แน่แน่สิ่งที่มีคุณค่ามหาศาลเหล่านี้ที่ได้พูดถึงก็โดนทำลายไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งการเปลี่ยนแปลงโดยขาดความรู้ความเข้าใจทางเทคนิคที่ถูกต้องของการอนุรักษ์ การไม่ใส่ใจ รวมไปถึงการทุบทำลายเพื่อสร้างใหม่ ฯลฯ โดยส่วนนี้ผู้เขียนเองก็ได้มีประสบการณ์ด้วยตัวเองที่ได้เห็นวัดที่ใช้ชื่อว่า “วัดโบราณ” แต่สิ่งที่เป็นของโบราณนั้นกลับโดนทำลายทุบทิ้งไปเพราะเจ้าอาวาส คณะกรรมการวัด ฆราวาส อยากได้วัดใหม่ที่สวยงามตามสมัยนิยม และ รสนิยม (ของตนเอง) โดยไม่สนของโบราณติติงด้อยค่าว่าเก่าเสื่อมโทรม แต่ก็ตลกร้ายที่ดันยังเรียกใช้ชื่อว่า “โบราณ” อยู่ในชื่อ

การเกิดขึ้นของหลักสูตรพุทธศิลปกรรมก็เพื่อจะบูรณาการทั้งเรื่องของศิลปะ การอนุรักษณ์ ต่อยอด และ สร้างสรรค์ เข้ามาไว้ด้วยกัน โดยมุ่งเน้นให้ที่เข้ามาเรียนในส่วนแรกเป็น “พระสงฆ์” เพราะผู้ที่อยู่ไกล้ชิดวัดที่สุดจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากพระสงฆ์นั่นเอง ต่อมาก็ประชาชนทั่วไปโดยไม่แยกเพศ ไม่แยกวุฒิการศึกษา เรียกได้ว่าขอแค่มีใจมีใจรักในงานศิลปะ มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างงานศิลปะไม่ว่าจะในรูปแบบไหน ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ คอนเซปต์อาร์ท ฯลฯ โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องหรือมีแนวความคิดเกี่ยวกับพุทธพุทธศาสนา บางคนอาจจะถามว่าถ้าเกิดว่าตนเองไม่มีความรู้ หรือ ฝีมือทางศิลปะ แต่อ่านแล้วมีความสนใจมากอยากเรียนจะเรียนได้มั้ยจะต้องทำอย่างไร ผมจะตอบแบบนี้ครับว่าเรียนได้ แต่อาจจะต้องไปเรียนที่ระดับ 1 ก่อน โดยหลักสูตรพุทธศิลปกรรมนี้ จะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ 1 2 และ 3 โดยมีเกณฑ์คัดเลือกตามระดับที่จะเรียน

ผู้เรียนระดับ 1

แบ่งเป็น 2 ภาค คือ แผน ก และแผน ข ผู้เรียนแผน ก เหมาะกับคนที่อยากเรียนศิลปะภาคภาคทฤษฎี จะมีสอนตั้งแต่ประวัติศาสตร์ศิลปะโลก ศิลปะสากล เรื่อยมาจนถึงศิลปะไทย เรียกได้ว่าเข้มข้นมากสำหรับ 1 ปีที่จะเรียน ส่วนผู้เรียนแผน ข จะเหมือนกับกับแผน ก แต่เพิ่มเติมคือมีภาคปฏิบัติเข้าไปด้วย คือ สอนพื้นฐานศิลปะให้หมดทุกแขนงให้ เป็นคลาสที่ให้ได้ลองเรียนรู้จะได้รู้ว่าตัวเองเหมาะกับศิลปะเทคนิคไหน

ผู้เรียนระดับ 2

จะเน้นค้นหาตนเอง ไม่เน้นวิธี แต่เน้นแนวความคิด เพราะระดับนี้จะค้นพบตัวเองแล้วว่าจะสร้างงานออกมาในรูปแบบไหนที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเองให้เป็นที่จดจำ โดยใช้แนวความคิด การเล่าเรื่อง แรงบันดาลใจเข้ามาจับกับงานให้ออกมาแยบยลที่สุด

ผู้เรียนระดับ 3

ต้องผ่านระดับ 2 โดยการคัดเลือกผลงานที่ผ่านเกณฑ์ เรียกได้ว่าผ่านระดับ 2 มาแล้วก็ไม่แน่ว่าจะได้เรียนระดับ 3 เหมือนกัน เพราะระดับ 3 นี้การเรียนการสอนเข้มข้นมาก 

แต่ที่แน่ ๆ ในทุกระดับการเรียนเราจะได้พบกับผู้ทรงคุณวุฒิที่เรียกได้ว่าระดับแนวหน้าของวงการศิลปะเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นศิลปินแห่งชาติในหลากหลายสาขาศิลปะ ศิลปินศิลปาธร ศิลปินไทยผู้คร่ำหวอดในวงการศิลปะทั้งใน และ นอกประเทศ ศิลปินหน้าใหม่ที่มีผลงานโดดเด่น นักสะสมงานศิลปะ คิวเรเตอร์ ฯลฯ ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาสอน มาให้ความรู้ผู้เรียนทุกอาทิตย์ และยังมีผลงานทุกชิ้นที่จะนำไปจัดแสดงจะได้รับการตรวจงานจากท่านอาจารย์ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และ คณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทุกชิ้น เรียกได้ว่าคุณภาพตั้งแต่การเรียนการสอนไปยันผลงานที่ออกมาให้ประจักษ์กันเลยทีดียว

จากที่ผู้เขียนได้กล่าวมาอย่างยืดยาวแล้วนั้น จะเห็นว่าผลงานสาขาวิชาพุทธศิลปกรรม รุ่นที่ 2 พ.ศ. 2565 ร่วมกับผลงานของผู้ทรงคุณวุฒิประจำหลักสูตร ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ณ ICON Art & Culture Space ชั้น 8 ไอคอนสยาม กรุงเทพฯ ที่นำมาแสดงในครั้งนี้รับรองว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว จากหลักสูตรฯ ผู้เรียนบางคนก็เป็นศิลปินที่มีผลงานโดดเด่นได้รับรางวัลระดับชาติ ได้ทุนไปดูงานยังต่างประเทศ บางผลงานก็ได้รับการจัดเก็บเข้าไปเป็นของสะสมของนักสะสมชื่อดังเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ยังไม่ได้ออกแสดง ถ้ามีโอกาสเข้าไปชมผลงานจะเห็นสติ๊กเกอร์สีแดงติดไว้ว่าผลงานศิลปะชิ้นนี้มีเจ้าของเรียบร้อยแล้วหลายชิ้นก็ไม่เป็นที่แปลกใจแน่นอน นี่เป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่าผลงานของผู้เรียนหลักสูตรพุทธศิลปกรรมมีคุณภาพสูงขนาดไหน

สุดท้ายแล้วอยากจะฝากให้ผู้ที่สนใจเข้าไปชมผลงานศิลปะ หรือ ใครอยากเก็บสะสมผลงานศิลปะดี ๆ ก็สามารถเข้าไปชมเพื่อเป็นตัวเลือกหนึ่งในการมองหางานศิลปะที่ทรงคุณค่า เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้เรียนสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพออกมาอีกเรื่อย ๆ เป็นกำลังใจให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ทุกองค์กร ที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักสูตรพุทธศิลปกรรมให้เกิดขึ้น เพราะศิลปะคือสิ่งที่บ่งบอกว่าชนชาตินั้นมีอารยธรรม มีความเป็นมา ทัศนคติเป็นอย่างไร ความคิดความอ่าน จินตนาการ พัฒนาการ วิวัฒนาการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังรอคนที่มีความรู้ ความเข้าใจ การอนุรักษณ์ ต่อยอด สร้างสรรค์ ให้เพิ่มเข้ามาอีกในจำนวนมากมายจึงจะอยู่รอดได้

นิทรรศการแสดงผลงานศิลปะของผู้เรียนหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม รุ่นที่ 2 พ.ศ. 2565
ร่วมกับผลงานของผู้ทรงคุณวุฒิประจำหลักสูตร ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
จัดแสดงในวันที่ 9 – 30 กันยายน 2566 ณ ICON Art & Culture Space ชั้น 8 ไอคอนสยาม กรุงเทพฯ 
*เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

Share