
เรื่อง / ภาพ : เอกณัฏฐ์ เธียรเศรษฐกุล
พูดถึงงานศิลปะสมัยใหม่ความแตกต่างจากยุคที่ผ่านมาผู้เขียนมองว่ามีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้ยึดติดกับทำเนียมเดิม ๆ มีความเป็น “วาไรตี้” มากขึ้น เหตุผลสนับสนุนความคิดนี้ก็สืบเนื่องมาจากสมัยผู้เขียนเรียนในระดับอุดมศึกษานั้น จะเห็นพัฒนาการของศิลปะในสมัยต่าง ๆ จากการเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ การศึกษาผลงานของศิลปินในยุคต่าง ๆ ทั้งมีชื่อเสียง และ เป็นเคสที่ใช้ศึกษา จะเห็นได้ว่าศิลปินในยุคเก่านั้น รูปแบบของสังคม ความเชื่อ วัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งตัวศิลปินเอง มักจะมีแบบแผนที่ยึดติดกันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมากกว่าในสมัยนี้ ยกตัวอย่าง ในยุคโบราณ เช่น กรีก โรมัน อัสซิเรียน เปอร์เซีย ฯลฯ ก็จะเป็นเรื่องเทพเจ้าซะเป็นส่วนใหญ่ มักไม่มีงานศิลปะที่พูดถึงเรื่องอื่น ๆ ให้เห็นเท่าใดนัก ส่วนในยุคกลาง เช่น โกติก บารอก รอกโกโก้ จนมาถึงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา หรือ เรอนาซอง ที่คุ้นหูเรา ส่วนมากก็จะเน้นไปทางด้านศาสนาซะเป็นส่วนใหญ่ จนมาถึงในยุคใหม่นี่เองที่ความหลากหลายทางการนำเสนอของศิลปะมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งเทคนิควิธีการสร้างงาน การนำเสนอ แนวความคิด เรื่องราว ฯลฯ
รูปแบบการสร้างงานของศิลปินในยุคปัจจุบันก็แตกต่างไปอย่างมาก ย้อนไปในสมัยที่ผู้เขียนยังเรียนอยู่นั้น เวลาไปชมงานแสดงศิลปะ ก็มักจะเจอกับแนวทางที่ไม่ต่างกันมากในการสร้างงาน ศิลปินท่านใดเป็นแนววาด ก็จะวาดอย่างเดียว ใครแนวปั้นก็จะปั้นอย่างเดียว หรือ ใครทำแนวไหนเราก็จะเห็นศิลปินท่านนั้นก็ทำแนวนั้นตลอด ความหมายของผู้เขียนไม่ได้บอกว่ามันไม่ดีนะครับอันนี้ต้องออกตัวไว้ก่อน เพียงแต่ว่าบางครั้งเวลาเราไปชมงานนิทรรศการศิลปะมันก็จะมีความรู้สึกว่า “แห้ง” และ “เรียบเฉย” จนเกินไปซักหน่อยหากงานชิ้นนั้นไม่มีพลังที่แสดงออกมามากพอ
เมื่อถึงงานของศิลปินที่มีแนวทางในการสร้างงานที่มีความ “ตูมตาม” ก็ทำให้ผู้เขียนนึกถึงงานของ “Lee Yong-baek” ในนิทรรศการที่ใช้ชื่อว่า “ความรักที่หายไป แต่แผลเป็นจะได้รับการเยี่ยวยา” แสดงที่นิทรรศการศิลปะนานาชาติครั้งที่ 54 La Biennale di Venezia หรือ เวนิสเบียนนาเล่ นั่นแหละ ทำไมผู้เขียนถึงบอกว่างานตูมตาม ก็เมื่อเราเดินเข้าไปในระยะทางเข้าของ “เกาหลี พาวิลเลี่ยน” สิ่งที่สะดุดความรู้สึกครั้งแรกไม่ใช่สิ่งที่ตาเห็นเหมือนพาวิลเลี่ยนอื่น ๆ โดยพาวิลเลี่ยนประเทศอื่น ๆ จะพยายามนำงานแสดงส่วนหนึ่ง ไม่ก็ป้ายนิทรรศการ หรือ อะไรก็ตามแต่ที่คิดว่าจะดึงดูดให้คนที่เข้ามาชมงาน “เกิดความอยากรู้อยากเห็น” เข้ามายังพาวิลเลี่ยนของตัวเองให้ได้ อันนี้เราก็ต้องเข้าใจว่างานนิทรรศการระดับเวนิสเบียนนาเล่เนี่ย เค้าไม่ได้มีแค่ไม่กี่พาวิลเลี่ยนนะครับ ประเทศที่ส่งศิลปินเข้าร่วมรวม ๆ แล้วมีมากกว่า 60 ประเทศเข้าร่วม ทั้งที่มีพาวิลเลี่ยนแบบสร้างถาวรไว้ให้ประเทศของตน หรือ แต่ละครั้งก็หาเช่าแบบไทยเรา(ฮา) นี่ยังไม่นับรวม “ศิลปินอิสระ” ที่มา “ร่วมแจม” แบบส่วนตัวอีกมากมาย
เมื่อเราก้าวเข้าไปในระยะทางเข้าของ เกาหลีพาวิลเลี่ยน สิ่งแรกที่สะดุดคือเสียงที่ผู้เขียนไม่สามารถบอกได้ทั้งหมดว่ามีเสียงอะไรบ้าง เสียงที่ได้ยินมีทั้งเสียงแก้วแตก เสียงนก เสียงน้ำไหล เสียงสวด ประสมประสานกันไปหมดจนทำให้รู้สึกกลาย ๆ ว่ามันช่างหลอนซะเหลือเกิน
ในห้องแสดงงานจะเราจะเห็นกระจกที่ดูเหมือนจะแตกทันทีหลังโดนกระสุน งานที่ใช้ชื่อว่า Self-hatred, Self-death, Plastic Fish, In Between Jesus and Buddha และ the popular work Angel Soldier ผลงานของ Lee Yong-baek เป็นการผสมผสานเทคนิคการนำเสนองานหลากหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน มีการนำเรื่องของ “มัลติมีเดีย” เข้ามาร่วม เรียกได้ว่าทุกองค์ประกอบสามารถดึงอารมณ์ของคนที่เข้ามาชมงานให้มีอารมณ์ร่วมในผลงานได้อย่างไม่ยาก
ในงานศิลปะสมัยใหม่ที่เราได้เห็นกัน มีความพยายามนำเสนอรูปแบบใหม่ ๆ เข้ามาทั้งนำเสนออันเนื่องมาจากสังคมเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น จนทำให้งานมีความน่าสนใจไม่ติดกับกรอบเดิม ๆ มีการแสดงออกแบบตรงไปตรงมา มีการวิพากษ์ วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน แต่บางครั้งก็ดูออกจะเกินเลยไปเป็นการดูถูกเหยียดหยาม การดูถูกดูแคลน หรือแม้กระทั้งการกระทำบางอย่างที่อย่างที่หวังผลประโยชน์ส่วนตัวที่ “น่าชังนัก และ น่าสะอิดสะเอียนนัก” แล้วมาอ้างว่านั่นเป็นงานศิลปะ
ในความเห็นของผู้เขียน “ศิลปะ” ไม่ว่าจะแสดงออกมาอย่างไร ในเชิงไหน ไม่ว่าจะเป็นความงาม ความประทับใจ ประสบการณ์ สังคม สิ่งแวดล้อม การสะท้อน วิพากษ์ วิจารณ์ ฯลฯ มันควรจะเป็นสิ่งที่ “สร้างสรรค์” ให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้นมากกว่า “การทำลายล้าง”