ผ่านไปกับวันแรกพร้อมพิธีเปิดของเทศกาลศิลปะร่วมสมัย “เชียงราย อาร์ตเฟสติวัล 2021” ถนนศิลปะ ครั้งที่ 2 “เชียงรายเมืองศิลปิน ถิ่นศิลปะ” Chiang Rai City of Art & Artists ส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวภายในจังหวัดเชียงรายด้วยศิลปะ ภายใต้มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื่อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) พร้อมกับการประกาศว่า “ชาวเชียงรายพร้อมแล้ว!!!” สำหรับ “Thailand Biennale Chiangrai 2023” และ สโลแกน “เชื่อมคน เชื่อมศิลปะ เชื่อมวัฒนธรรม”
คีย์เวิร์ดสำหรับบทความแค่ย่อหน้าเดียวคุณผู้อ่านจะเห็นว่าคีย์เวิร์ดแต่ละอย่างแฝงไว้ด้วยวิศัยทัศน์ และ กลุยุทธ์แนวทางที่เมืองเชียงรายแห่งนี้วางเป้าหมายไว้ สิ่งที่น่าสนใจในการ “นำร่อง” ของ “ขัวศิลปะฯ” ในการที่จะพาเชียงรายเมืองที่มีจำนวนศิลปิน จำนวนของสถานที่แสดงงานศิลปะอยู่ในอันดับต้น ๆ ของประเทศ ไปสู่เป้าหมายที่เป็น “ระดับนานาชาติ” มากขึ้นกับคำว่า “Biennale” หากใครยังไม่เคยได้ยินคำนี้ หรือ ยังไม่เข้าใจกับคำ ๆ นี้สามารถย้อนไปอ่านบทความที่ผมเขียนไว้ก่อน ๆ เรื่อง “เทศกาลศิลปะแห่งมวลมนุษยชาติ กับ เวนิสเบียนนาเล่ (Venice Biennale) ได้ครับ
ในวันที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปถ่ายภาพเพื่อเก็บบรรยากาศในวันเปิด มีการเสวนาเรื่องการสะสมผลงานทางศิลปะ พูดถึงเรื่องการซื้อขาย การลงทุนในงานศิลปะจาก การกล่าวเปิดงาน และ ที่มาที่ไปของงานในครั้งนี้จากบุคคลสำคัญหลาย ๆ ท่าน และ ปิดท้ายด้วยการแสดงเดินแบบแฟชั่นโชว์จากผ้าท้องถิ่งล้านนา โดยรายละเอียดต่าง ๆ ผู้เขียนขอไม่ลงลึกมากเพื่อไม่ให้บทความยาวเกินไป คุณผู้อ่านสามารถเข้าไปชมได้ที่เว็บไซต์ของ “ขัวศิลปะเชียงราย” ได้โดยตรงครับ
ในงาน “เชียงราย อาร์ตเฟสติวัล 2021” ครั้งนี้มีการแสดงผลงานทางด้านศิลปะอย่างหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการออกร้านศิลปะจากตัวแทนบ้านศิลปินเชียงราย สินค้าต่าง ๆ จากศิลปินหลายหลายสาขา เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ดนตรี นาฏศิลป์ แฟชั่น การแสดงศิลปะร่วมสมัย ฯลฯ เอาเป็นว่ามีเยอะแยะมากมายหลากหลายแนวทางจากสถานที่แห่งนี้ได้เปิดแสดง เปิดโอกาสให้ใครก็ตามที่เป็นศิลปิน หรือ แม้ไม่ใช่ศิลปินก็ตาม มีพื้นที่ในการแสดงผลงานต่าง ๆ ของตนเอง
สิ่งที่น่าสนใจในการนำร่องของ “ขัวศิลปะฯ เชียงราย” สิ่งที่โดดเด่น สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมที่สุด สิ่งที่ทางขัวศิลปะฯ กระทำมาตลอด เป็นจุดยืนที่ชัดเจน และ ดีมาก ๆ มาตั้งแต่ต้นที่เห็นได้ก็คือ คำว่า “เชื่อมคน เชื่อมศิลปะ เชื่อมวัฒนธรรม” ถ้าเรามองย้อนไปในความเข้าใจในอดีต คำว่า “ศิลปะ” ตามความเข้าใจของคนทั่วไปมักจะถูกจำกัดในมุมมองที่แคบมาก ๆ มีคนส่วนน้อยเท่านั้นที่รับรู้ว่าศิลปะแท้จริงคืออะไร คนทั่วไปมักมองว่าเป็นเรื่องเฉพาะของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเพียงเท่านั้น ไม่เข้าใจ จับต้องได้ยาก เข้าถึงยาก และ ไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องไปเข้าใจ แต่จากการทำงานหนัก การออกมาสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินในยุคบุกเบิกอย่างแข็งขัน อย่างยาวนาน และ สม่ำเสมอ การออกมามีส่วนร่วมในชุมชน การออกมาสร้างประโยชน์แก่ส่วนรวม กระบวนการเหล่านี้ได้หลอมรวมวิถีแห่งวัฒนธรรมสู่สุนทรียะศาสตร์ของศิลปะได้อย่างมีกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน
ในปัจจุบันหากมองเฉพาะในจังหวัดเชียงราย ที่ศิลปินมีความสมัครสมานกลมเกลียว มีมุมมองที่เป็นทิศทางเดียวกัน ได้วางแนวทาง “เชื่อมคน เชื่อมศิลปะ เชื่อมวัฒนธรรม” ในการแสดงงานศิลปะนั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องของการขีด ๆ เขียน ๆ เท่านั้น แต่ศิลปะคือสุนทรียภาพที่ก่อเกิดการสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่ไม่ได้แบ่งเขาแบ่งเรา ศิลปินที่สร้างงานศิลปะก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่อยู่ในสังคมเหมือนกัน ไม่ได้เป็นสิ่งแปลกแยกออกไป แนวทางนี้หลอมรวมให้สังคม “เข้าใจ” ศิลปะ ศิลปิน มากขึ้น ดังที่เห็นว่าในจังหวัดเชียงรายนั้น ไม่ว่ากลุ่มศิลปินจะมีกิจกรรมใด ชุมชน สังคมก็มักจะให้ความสนใจ ให้การสนับสนุน เพิ่มการมีส่วนร่วมในกิจกรรมร่วมกันหลาย ๆ ภาคส่วน นี่จึงเป็นความสวยงามในการผสมกลมกลืนทางด้านคน ศิลปะ สังคม วัฒนธรรมอย่างยั่งยืน
เทศกาลศิลปะร่วมสมัย “เชียงราย อาร์ตเฟสติวัล 2021” ถนนศิลปะ ครั้งที่ 2 “เชียงรายเมืองศิลปิน ถิ่นศิลปะ” Chiang Rai City of Art & Artists ส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวภายในจังหวัดเชียงรายด้วยศิลปะ
จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 – 31 มีนาคม 2564
เวลา 15.00 – 23.00 น. ณ ลานกิจกรรมขัวศิลปะเชียงราย
รายละเอียดกิจกรรม เฟซบุ๊กแฟนเพจ : ขัวศิลปะ โทร.053-166623