เรื่อง / ภาพ : เอกณัฏฐ์ เธียรเศรษฐกุล
เมื่อต้องทำบทความของตนเอง สิ่งหนึ่งที่ผุดขึ้นในหัวก็คือ จะเล่าอะไรดี ประเด็นนี้คงเป็นปัญหาของคนทั่วไป หรือ อาจจะเป็นปัญหาของทุกคนบนโลกเลยก็ได้ ว่าเวลาจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว จะเริ่มจากตรงไหนดี สิ่งที่ผู้เขียนมองว่าน่าจะดีที่สุด และก็ง่ายที่สุด ก็คือดึงออกมาจากความทรงจำ จากประสบการณ์ ความประทับใจ สิ่งที่ทำให้เกิดความเอะใจ ความสงสัย แล้วหยิบยกมาเป็นบทความ
ดังนั้นวิธีการถ่ายทอดของผู้เขียนที่นำมาใช้ก็คือการมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งนั่นก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของตัวผู้เขียนเอง เนื่องจากลักษณะนิสัยเป็นพวกชอบด้นสด ไม่ค่อยชอบใช้สคริปให้วุ่นวาย ไม่ตีกรอบ ไม่คิดแทนใคร และ ที่สำคัญไม่ยัดเยียดความคิด หรือ เอาตัวเองเป็นบรรทัดฐานทั้งสิ้น เพราะความเชื่อความคิดของแต่ละบุคคลย่อมเกิดจากประสบการณ์ ทัศนคติ ลักษณะนิสัย ความชอบ ฯลฯ
ดังนั้นเรื่องเหล่านี้ย่อมเป็นปัจเจคส่วนบุคคล อย่างผู้เขียนเองเมื่ออายุมากขึ้น ประสบการณ์เยอะขึ้น เจออะไรมากขึ้น ความคิด ทัศนคติ หรือ ค่านิยมส่วนตัวย่อมเปลี่ยนไปตามด้วย วันนี้เชื่ออย่างนี้ อนาคตก็อาจจะไม่แน่ว่าจะยังเชื่อเช่นนี้หรือเปล่าเมื่อผ่านเวลาไปอีกช่วงหนึ่ง
หากจะพูดถึงงานชิ้นหนึ่งที่ฝังอยู่ในความสนใจ และ สะดุดตาของผู้เขียนตั้งแต่แรกเห็น แล้วจะไม่พูดถึงงานชิ้นนี้ก็คงเป็นไปไม่ได้ งานชิ้นนี้จะเรียกว่าเหตุบังเอิญก็เป็นไปได้ที่ได้เจอกัน
หลังจากการทำงานในวันอันแสนวุ่นวายของการจัดการเตรียมงานก่อนเปิดงานเวนิสเบียนนาเล่ ผู้เขียนก็มีโอกาสได้เดินเข้าไปตามตรอกซอกซอยอันคดเคี้ยวของนครเวนิส
หากเป็นนักท่องเที่ยวที่ไม่ใช่เจ้าถิ่นแล้วนั้น การเดินเข้าตรอกซอกซอยที่ไม่ใช่ทางหลักอาจจะทำให้หลงเอาง่าย ๆ เพราะเวนิสในตรอกซอกซอยต่าง ๆ จะมีทางเชื่อมหากันทั้งหมด น้อยครั้งที่จะเจอทางตัน นั่นก็หมายความว่าเราสามารถเดินไปได้เรื่อย ๆ ตามเส้นทางที่เลาะไปตามอาคาร เลาะไปตามคลอง แล้วก็ข้ามสะพานแล้วสะพานเล่า ซึ่งนั่นก็ไม่ต่างจากเขาวงกตซักเท่าไหร่ในความเห็นของผู้เขียน
ซึ่งกว่าจะโผล่มาเส้นทางหลักรู้ตัวอีกทีก็เดินมาไกลมาก ๆ จนไม่อยากทีจะเดินกลับที่พักกันเลยทีเดียว แต่ก็อีกนั่นแหละการเดินไปเรื่อย ๆ แบบนี้มันทำให้เราได้เห็นอะไรมากมาย
ตามตรอกซอกซอยในเวนิส นอกจากจะมีบ้านพัก วิหารคาทอลิกรูปทรงอาคารแบบไบเซนไทน์ ก็มักจะมีร้านอาหารสอดแทรกมาเป็นระยะ ๆ ทั้งร้านขายของที่ละลึกที่มีทั้งหน้ากากสำหรับงานคานิวัล
เครื่องแก้วมูราโน่ เสื้อผ้า หมวก พวงกุญแจอะไรอีกจิปาถะ และที่สำคัญคือแกลเลอรี่แสดงงานศิลปะสอดแทรกมาให้เห็นตลอด
หลังจากพาท่านผู้อ่านเดินอ้อมซะนานก็วกกลับเข้ามาคุยถึงเรื่องภาพที่ไปเจอในแกลเลอรี่ระหว่างทางนั่นแหละ แว้บแรกตอนที่เห็น ทำให้นึกถึงผลงาน “Pietà” หรือ “Pietas” อ่านออกเสียงตามอิตาเลียนว่า “ปีเอตะ” ของศิลปินชื่อก้องโลกยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (เรอนาซอง-Renaissance) เรียกว่าศิลปินท่านนี้เป็นอัจฉริยะเลยก็ว่าได้เพราะนอกจากจะเป็นจิตรกร สถาปนิก ก็ยังเป็นประติมากรชื่อดัง ศิลปินท่านนั้นก็คือ “มีเกลันเจโล ดี โลโดวีโก บูโอนาร์โรตี ซีโมนี” หรือที่คนไทยคุ้นเคยและนิยมเรียกกันก็คือ “มีเกลันเจโล” หรือ “ไมเคิลแองเจโล” นั้นเอง
ปีเอตะ เป็นผลงานประติมากรรมหินอ่อนที่ ไมเคิลแองเจลโล สลักไว้เป็นรูปพระแม่มารีย์ประทับบนแท่นหิน ขณะที่รองรับพระศพของพระบุตร(พระเยซู)ไว้บนตัก ปีเอตะได้รับการสร้างจากหินอ่อนบริสุทธิ์ สูง 5 ฟุต 9 นิ้ว โดย ไมเคิลแองเจลโล ได้รับการว่าจ้างจากสำนักวาติกันแห่งกรุงโรม เพื่อนำไปประดิษฐานที่มหาวิหารนักบุญเปรโตร หรือ โบสถ์เซ็นต์ปีเตอร์ นั่นเอง (Basilica of Saint Peter)
ซูเปอร์แมนคงเป็นฮีโร่ของใครหลาย ๆ คน เพราะถือว่าเป็นยอดมนุษย์ เหาะได้ มีพละกำลังมหาศาล มีความเร็วเหนือใคร มีตาที่สามารถปล่อยแสงได้ สามารถสแกนผ่านสิ่งกีดขวางได้
ดังนั้นซูเปอร์แมนจึงเป็นความหวังของใครหลาย ๆ คนที่คาดหวังกับตัวซูเปอร์ฮีโร่คนนี้เหมือนกับเขานั้นเป็นอมตะกันเลยทีเดียว
หากใครเคยเป็นแฟนตัวยงของคอมิกส์เรื่องซูเปอร์แมนเราจะรู้ว่าซูเปอร์แมนมันจะมีโมเม้นท์ที่แตกต่างกับภาพลักษณ์ที่เห็นภายนอก ภายในเขาก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่มีความรู้สึกเช่นปุถุชนทั่วไป แม้ร่างกายภายนอกแข็งแกร่งมากเท่าไหร่ แต่ความรู้สึกข้างในกลับอ่อนแอมากมายเกินกว่าใครจะเข้าใจ แต่ด้วยภาระความรับผิดชอบจึงสร้างภาพให้ปรากฏออกมาว่าเป็นคนที่เข็มแข็ง ในเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงเพลง “Superman (It’s Not Easy)” ของวง Five for Fighting ขึ้นมาโดยทันที
วาระสุดท้ายของซูเปอร์แมนนั้นถูกจัดการโดยตัวร้ายที่ชื่อว่า “Doomsday” แต่การเสียสละจนมาสู่ “มรณกรรมของซูเปอร์แมน” ก็เป็นอะไรที่บ่งบอกว่า
ภาระของคน ๆ หนึ่งที่มีให้กับความรับผิดชอบ ความคาดหวัง การเสียสละตัวเองเพื่อส่วนรวมก็ควรค่าแก่การสรรเสริญไม่ต่างจากศาสดาองค์หนึ่งเลยทีเดียว