16/10/2021
Share

เรื่อง / ภาพ : เอกณัฏฐ์ เธียรเศรษฐกุล

ท้าวความไปเมื่อปี ค.ศ. 2011 ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ตอนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของทีมศิลปินตัวแทนของประเทศ ในตำแหน่ง “Chief Designer” ของบริษัท นาวิน โปรดักชั่น ศิลปินตัวแทนของประเทศไทยในปีนั้น คือคุณนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ในงานแสดงที่ใช้ชื่อว่า “Paradiso di Navinn” หรือก็เป็นศิลปินเจ้าของบริษัท นาวิน โปรดักชั่น บริษัทที่ตั้งขึ้นมาในบริบทเชิงศิลปะ (ในเรื่องนี้ถ้ามีโอการผมจะเอามาเล่าให้ฟังครั้งต่อ ๆ ไป) 

ในช่วงหลังจากมีพิธีเปิดงานแสดงผลงานศิลปะไปเรียบร้อยแล้ว ผู้เขียนก็ได้ฤกษ์งามยามดีมีโอกาสได้เตรดเตร่ไปเที่ยวชมงานในพาวิลเลี่ยนอื่นซักที

อ่อ… ลืมบอกไปว่าคำว่าพาวิลเลี่ยนถ้าแปลตรงตัวก็คือศาลา แต่ถ้าให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ก็คืออาคารแสดงงานศิลปะของแต่ละประเทศนั่นเอง โดยแต่ละประเทศโดยเฉพาะประเทศใหญ่ ๆ ประเทศที่เรียกว่าให้การสนับสนุนทางด้านศิลปะอย่างจริงจัง ก็จะมีการเช่า-ซื้อที่ดิน สร้างพาวิลเลี่ยนประจำของประเทศตัวเองไปกันเลยทีเดียว ขนาดของอาคารก็บ่งบอกความมั่งคั่งของประเทศนั้น ๆ ประเทศที่มีเงินถุงเงินถังก็มีการประชันขันแข่งขนาดของอาคาร รูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคารแบบที่ว่าสร้างกันมาหลายทศวรรษแต่รูปทรงอาคารยังล้ำสมัยได้อีก ไม่งั้นจะไม่สมศักดิ์ศรี ไม่สมฐานะประเทศของตัวเอง

พูดถึงการให้ความสำคัญของศิลปะข้อสังเกตุของผู้เขียนมองว่าประเทศที่อยู่ดีกินดีแล้วไม่ต้องมาห่วงพะวงเรื่องปากท้องมาก เศรษฐกิจ การเมือง สังคม ฯลฯ ภาพรวมทั้งหมดดีแล้ว ก็เลยมีเวลาในการแสวงหาสุนทรียะในชีวิตมากขึ้นนั่นเอง ประชาชนส่วนใหญ่ (รวมไปถึงหน่วยงานรัฐบาล) ก็เลยให้การสนับสนุนในเรื่องอะไรก็ได้ที่เป็นสุนทรียะที่ทำให้ตนเองได้เบิกบานสำราญใจ ส่วนประเทศไหนที่ยังท้องกิ่วอยู่เรื่องสุนทรียะจะไปคิดถึงได้ยังไง ความคิดนี้แม้อาจจะไม่ถูกต้องซะทั้งหมดแต่ผู้เขียนก็มองว่าก็น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

เมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตมาเยือนเทศกาลศิลปะที่จัดว่ายิ่งใหญ่ที่สุดของโลกเทศกาลหนึ่ง ก็พลาดไม่ได้ที่จะตั้งเป้าว่าต้องไปชมงานศิลปะของแต่พาลิลเลี่ยนของแต่ละประเทศให้ได้มากที่สุด ซึ่งก็เป็นอะไรที่ท้าทายมากเช่นกัน เพราะงานแสดงจะกระจายไปทั่วนครเวนิส นี่ยังไม่รวมถึงจุดแลนด์มาร์คหลาย ๆ แห่งในนครเวนิสที่ก็ไม่ควรพลาดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่สำคัญ สถานที่ทางประวัติศาสตร์ อาคาร มหาวิหารต่าง ๆ แต่ผู้เขียนก็มองว่าไม่น่าจะเป็นอุปสรรค์เท่าไหร่เพราะยังมีเวลาอีกหลายเดือนที่ได้อยู่ในนครเวนิสแห่งนี้ เพราะต้องอยู่จนจบเทศกาลแสดงงานเวนิสเบียนนาเล่ครั้งนี้

เข้าเรื่องกันเลยดีกว่าหลังจากออกอ่าวออกทะเลตามสไตล์การเขียนของผู้เขียน ซึ่งไม่มีสคริปต์ นึกอะไรออกก็เล่า ๆ ออกมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปชมผลงานของพาวิลเลี่ยนอเมริกา ศิลปินที่มาเป็นตัวแทนแสดงในครั้งนั้นก็คือ Jennifer Allora และ Guillermo Calzadilla โดยได้รับเลือกมาจาก สำนักกิจการการศึกษาและวัฒนธรรมแห่งสหรัฐอเมริกา (ECA) ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกเลยก็ว่าได้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาทำการรับเลือกศิลปินที่อาศัยอยู่ในเปอร์โตริโกมาเป็นตัวแทนแสดงงาน

ผลงานของทั้งคู่เรียกได้ว่าน่าสนใจเลยทีเดียว เมื่อผู้เขียนได้ไปยังพาลิลเลี่ยนของอเมริกา สิ่งที่ดึงดูดใจที่เห็นได้ตั้งแต่ระยะไกล ๆ นั่นก็คือรถถังคันมหึมาจอดนอนหงายท้องขึ้นฟ้า!!! ใช่ครับรถถังจริง ๆ ไม่ใช้สลิงไม่ใช้สแตนด์ เป็นรถถังที่ยังสามารถใช้งานได้จริง ๆ ไม่ใช่รถถังจำลอง หรือ รถถังที่มีแต่โครง นำมาจอดนอนหงาย แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้นอีกก็คือบนสายพานตีนตะขาบของรถถัง กลับมีลู่วิ่งออกกำลังกายวางอยู่บนสายพานนั้น โดยทุก ๆ 1 ชั่วโมง จะมีนักกีฬาระดับโอลิมปิกของอเมริกาขึ้นไปแสดงการวิ่งบนสายพานนั้น เป็นเวลาประมาณ 30นาที โดยให้รถถังติดเครื่องเมื่อล้อตีนตะขาบหมุนก็จะทำหน้าที่ไม่ต่างจากสายพานลู่วิ่ง ยังไงล่ะเก๋มั้ยล่ะ!!!

รถถังที่นอนหงายชีฟ้าอยู่นั้นเป็นรถถังขนาด 60 ตันของอังกฤษ หลาย ๆ ท่านอาจจะแปลกใจว่าทำไมไม่ใช่รถถัง “เอบรามส์” ของอเมริกันล่ะ ก็ตอบง่าย ๆ ว่ารถถังอเมริกันไม่ได้รับอนุญาติให้นำมาทำอะไรแบบนี้ถ้าไม่ใช่เอาไปใช้ในทางทหาร หรือ การสงคราม งานแสดงนี้เรียกได้ว่าเป็นการแสดงงานศิลปะเชิงสัญลักษณ์ที่ตีความไปได้หลากหลาย แล้วท่านผู้อ่านเมื่อเห็นงานแสดงนี้ล่ะ นึกถึงอะไร?

แต่ที่แน่ ๆ Jennifer Allora และ Guillermo Calzadilla กว่าจะได้เป็นตัวแทนของประเทศสหรัฐอเมริกามาแสดงงานในครั้งนี้ ก็ต่างถูกวิพากษ์ วิจารณ์ ต้องต่อสู้จากแรงต่อต้านจากประชาชนชาวอเมริกัน ที่เป็นต้นแบบของประเทศเสรีของใครหลาย ๆ ประเทศบนโลก ประเทศที่รักเสรีภาพเท่าชีวิต แต่ก็มีการเหยียดสีผิว กีดกันความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติวัฒนธรรมอย่างมากมายเช่นกัน


Share